กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ผู้ว่าฯ กทม.แถลงการจัดซื้อและติดตั้งกล้อง CCTV ในกรุงเทพฯ มีกล้องเปล่าจริงแต่เป็นไปตามสัญญาจัดซื้อ อย่ากล่าวหาคอร์รัปชั่น พร้อมเปิดเผยสัญญาให้ตรวจสอบ ขณะเดียวกันสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.กทม. และเผยแพร่พิกัด CCTV ผ่านเว็บไซต์กทม. ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ส่วนกล้องเปล่า 500 ตัวเร่งถอดออก และติดตั้งกล้องจริงแทน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวกรณีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้ง CCTV ระยะแรกภายหลังเกิดเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2550 โดยรัฐบาลมอบภารกิจให้กทม.ดำเนินการติดตั้งโดยใช้งบประมาณฉุกเฉินของรัฐบาล จำนวน 330 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ดำเนินการร่างรายละเอียดและข้อกำหนดของกล้อง CCTV ตั้งแต่เดือน ธ.ค.50 และยกร่างเสร็จในเดือน ก.ค.51 สามารถจัดซื้อได้ในเดือน พ.ย.52 รวมจำนวน 2,046 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกล้องเปล่า 1,325 ตัว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงจำเป็นต้องมีกล้องเปล่ารวมอยู่ด้วย โดยกล้อง CCTV มีราคาตัวละ 34,000 — 130,000 บาท และกล้องเปล่าราคา 2,500-2,700 บาท ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นกับการดำเนินการจัดซื้อกล้อง CCTV ของกทม. แต่จะกล่าวหาว่าเกิดการคอร์รัปชั่นไม่ได้ เนื่องจากในรายละเอียดและข้อกำหนดการจัดซื้อกล้อง CCTV ระบุให้มีการจัดซื้อกล้องเปล่ารวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศนโยบายที่จะติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัว ในระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพื่อดูแความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ดำเนินการครบแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.54 และเป็นกล้อง CCTV ที่สามารถใช้ได้จริงทุกตัว พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บกล้องเปล่าออกทั้งหมด แต่ยังคงเหลือค้างประมาณ 500 ตัว ซื่งจะต้องดำเนินการจัดเก็บให้หมดต่อไป นอกจากนี้ กทม.ยังเดินหน้าติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมให้ได้ 20,000 ตัว เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
สำหรับกรณี CCTV ที่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสัญญาจัดซื้อกล้อง CCTV ทุกฉบับตั้งแต่การจัดซื้อครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเรื่องดังกล่าว และให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนการทุจริต และประพฤติมิชอบในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ป.ป.ช.กทม.) ซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานกรรมการ ร่วมพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งนำข้อมูลพิกัดการติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัว ตลอดจนพิกัดกล้องเปล่า 500 ตัว ขึ้นเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการติดตั้งกล้อง CCTV แต่ยกเว้นจุดติดตั้ง CCTV ในเขตพระราชฐาน และสถานที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
โอกาสนี้ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวแสดงความขอบคุณประชาชนและสื่อมวลชนทุกคนที่ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งยินดีให้รัฐบาลและภาคการเมืองร่วมตรวจสอบการติดตั้งกล้อง CCTV ของกทม.ด้วย