คปภ. แนะประชาชนซื้อประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday September 22, 2011 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--คปภ. ตามที่ขณะนี้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้น 54 จังหวัด รวม 436 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,514,107 ครัวเรือน เป็นเหตุให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งอุทกภัยมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่และทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ที่ไม่เคยเปรากฎภัยน้ำท่วมมาก่อน นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีความห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัย ประสานบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วนแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการประกันภัย เช่น รับแจ้งเหตุ ให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย และการให้คำแนะนำการดูแลรถภายหลังน้ำลด ทั้งนี้ หากผู้เอาประกันภัยรายใดยังไม่ได้แจ้งความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัยโดยทันที เพื่อสำนักงาน คปภ. จะได้เร่งประสานให้บริษัทประกันภัยสำรวจความเสียหาย และจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรมแก่ผู้ประสบภัยต่อไป เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันภัยธรรมชาติขยายพื้นที่มากขึ้นและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประชาชนไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่สามารถบรรเทาความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินได้ด้วยการประกันภัย จึงขอแนะนำให้ประชาชนซื้อประกันภัยเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยรถภาคสมัครใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบใหม่ ที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มอีก 5 ภัย ได้แก่ ภัยจากน้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บ แผ่นดินไหว และการก่อการร้าย เพียงเสียค่าเบี้ยประกันอีก 300 บาท ให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 50,000.- บาทต่อแต่ละภัย และตลอดระยะเวลาประกันภัยจะไม่เกิน 100,000.- บาท เป็นการแบ่งเบาภาระความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และในเดือนกันยายนนี้เป็นเดือนแห่งการประกันภัย ประชาชนสามารถซื้อกรมธรรม์จากบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันชีวิตจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันเป็นพิเศษด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ