กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มท.3 ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เน้นย้ำให้บูรณาการการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบโซนนิ่งเพื่อป้องกันมิให้การระบายน้ำไปกระทบต่อจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกำชับให้เร่งสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบภัยและเข้าข่ายหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ส่งข้อมูลให้ ปภ. ภายใน 26 กันยายน 2554 เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือต่อไป
นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความ เป็นห่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ขยายวงกว้าง จึงได้มอบหมายรัฐมนตรีรับผิดชอบกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นรายจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดให้สามารถแก้ไขและคลี่คลายสถานการณ์ภัยได้โดยเร็ว ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา จึงได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงติดตามและเร่งรัดการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
นายฐานิสร์ เทียนทอง กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 2 จังหวัดเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแผนการผลักดันน้ำออกสู่ทะเลด้านทิศตะวันออกทางแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำได้ จึงได้มอบหมายให้จังหวัดจัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ โดยในระยะเร่งด่วนได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบโซนนิ่งเพื่อป้องกันมิให้การระบายน้ำไปกระทบต่อจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงน้อมนำแนวพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมกำชับให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประสานการดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ให้ทั่วถึง ตลอดจนเร่งสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบภัยและเข้าข่ายหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท และส่งข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายในวันที่ 26 กันยายน 2554 เพื่อรวบรวมและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากวงเงินในอำนาจอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด (50 ล้านบาท) ไม่เพียงพอ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติ วงเงินช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบภัยเพิ่มเติมจังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดก็สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในการดูแลและเยียวยาผู้ประสบอุกทภัยได้อย่างเต็มกำลัง โดยให้ยึดการดำเนินงานตามระเบียบกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด