กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ม.อัสสัมชัญ
ผศ.พ.ต.ท.ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบัณบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมเสวนาในเชิงวิชาการเรื่อง “เสียงสะท้อนของผู้ประเมินต่อแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด” วันนี้ (23 กันยายน 2554)
ทั้งนี้ ดร.นพดล กล่าวว่าจากการทำวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดมากว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าเรายังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านพ้นสถานการณ์ปัญหายาเสพติดไปได้ ทุกๆ ครั้งที่มีการสำรวจความรู้สึกนึกคิดของประชาชน พบว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญในระดับต้นๆ และบางครั้งสาธารณชนให้ความสนใจถือเป็นอันดับที่หนึ่งของปัญหาทั้งหมด
หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างของการแก้ปัญหายาเสพติดโดยภาพรวม น่าจะถือได้ว่า ประเทศไทยมีความเป็นมาตรฐานสากลที่นำไปเปรียบเทียบได้กับแนวนโยบายแห่งรัฐว่าด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติดของนานาประเทศ เพราะหลายอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ “มี” ประเทศไทยก็มีเช่นกัน ได้แก่ การประกาศสงครามกับยาเสพติดหรือ War on Drug การบำบัดผู้เสพยาเสพติด การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรวจค้นจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ และการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนด้วยกำหนดให้มีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านพ้นปัญหายาเสพติดได้ ผู้ประเมินที่เป็นนักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
ประการแรก เร่งระดมกวาดล้างอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วยการปราบปรามนำหน้าในช่วงต้นและช่วงปลายของแต่ละรัฐบาล โดยมุ่งเน้นในระดับพื้นที่ระหว่างประเทศ ภูมิภาค จังหวัด ชุมชนหมู่บ้าน และซุ่มบ้านเช่า อพาร์เม้นต์ ที่พักอาศัยแต่ละครัวเรือน แต่ในช่วงที่การปราบปรามเริ่มเป็นผลที่สามารถกดดันขบวนการค้ายาเสพติดได้ ควรเพิ่มความเข้มข้นอย่างมีประสิทธิภาพในแนวทางการป้องกันและบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะระบบคัดกรองผู้เข้าสู่สถานบำบัดต้องโปร่งใสมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคัดกรอง ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของเชื้อชาติ และอัตลักษณ์ของกลุ่มประชาชนทุกกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย ทำให้ทุกเชื้อชาติในสังคมไทยเป็นประชาชนที่มีคุณภาพที่ดีต่อส่วนรวม ไม่เป็นภาระและอันตรายทำร้ายสังคมไทย โดยเน้นด้านการให้การศึกษาและโอกาสในการประกอบอาชีพที่สุจริต ให้แก่ทุกคน ทุกเชื้อชาติในผืนแผ่นดินไทย และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และสัมผัสเรียนรู้โครงการต่างๆ ที่สำคัญ ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม เช่น โครงการกองทุนแม่ โครงการศิลปชีพ โครงการพระดาบส โครงการชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เป็นต้น
ประการที่สาม ใช้เครือข่ายทางสังคมหรือโซเชียลเน็ตเวิร์คลดปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ด้วยการเฝ้าติดตามระวังปัญหาผ่านการกลั่นกรองของเจ้าหน้าที่รัฐในข้อมูลที่ส่งไปยังสมาชิกเครือข่ายผ่านอีเมล ทวิสเตอร์ เฟซบุค และข้อความสั้นไปยังโทรศัพท์มือถือของสมาชิกทุกคนเพื่อป้องปรามและสกัดกั้นการขยายตัวของขบวนการค้ายาเสพติดได้อีกทางหนึ่ง ประการที่สี่ ลดอันตรายจากยาเสพติดและการทำระบบฐานข้อมูลติดตามผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปีเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขากลับคืนสู่สังคม ประกอบสัมมาอาชีวะและไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้อีก
ประการที่ห้า ปฏิบัติการเชิงรุกใช้ยุทธศาสตร์ประกาศสงครามยาเสพติดอีกครั้ง รวดเร็วฉับไวต่อการแจ้งเบาะแสขบวนการค้ายาเสพติดและเจ้าหน้าที่รัฐที่กอบโกยผลประโยชน์จากยาเสพติด โดยมีมาตรการคุ้มครองพยานที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนผู้รักตนเอง ครอบครัวและรักชุมชนกล้าออกมาเสียสละยอมเสี่ยงต่ออันตรายช่วยลดปัญหายาเสพติดที่กำลังเป็นภัยคุกคามคุณภาพของประชาชนและความเป็นปกติสุขของสังคมไทยในเวลานี้ ประการที่ 6 ศึกษาวิจัยตัวยาเสพติดบางตัวที่นำมาเป็นพืชเศรษฐกิจ และช่วยให้ประชาชนใช้พืชเหล่านั้นอย่างถูกต้องไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและสังคม ชุมชน และประการที่ 7 มีคณะกรรมการในรูปขององค์กรอิสระตรวจสอบประเมินผลกระทบจากนโยบายและปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เชิงสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
ในขณะที่ ผศ.พ.ต.ท.ดร.เกษมศานต์ กล่าวว่า บริบทของการแก้ปัญหายาเสพติดตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลที่ผ่านมาในห้วงปี พ.ศ.2552-2554 มีความแตกต่างจากบริบทในการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยาเสพติดมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เป็นรัฐบาลพรรคเดียวมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง สามารถกำหนดนโยบาย และผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีพลัง และเมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่สังคมมีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้น การกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จึงอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างมาก และเป็นปัญหาอุปสรรคประการสำคัญประการหนึ่งให้กับรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างรวดเร็วและเต็มกำลัง ทั้งนี้ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมีดังต่อไปนี้
1) หากเปลี่ยนมุมคิดใหม่ต่อการระบุประเด็นปัญหานโยบาย (problem definition) ว่า ปัญหายาเสพติดในสภาพของตัวมันเองไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ของปัญหาสังคมด้านอื่น การใช้/การแพร่ระบาดยาเสพติดเป็นการสะท้อน เป็นผลพวงมาจากปัญหาสังคมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว ระบบสังคม ระบบการศึกษา ความอ่อนแอของชุมชน/สังคม ฯลฯ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหายาเสพติด จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมไปด้วยในเวลาเดียวกัน
2) โครงสร้างในการบริหารจัดการและอำนวยการ ไม่ควรมีความสลับซับซ้อน (simple) ควรง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ปฎิบัติ และสามารถนำไปปฏิบัติเป็นโครงสร้างและกลไกที่เอื้อและมีระบบที่ช่วยในการดำเนินนโนบาย กำกับ ติดตามนโยบาย (monitor) อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรมีการกำหนดแผนที่ยุทธศาสตร์ (road map) ไว้อย่างชัดเจน
3) รัฐบาลจะต้องแสดงออกอย่างจริงจัง ในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกถึงเจตจำนงและภาวะผู้นำที่ชัดเจน ในการสร้างค่านิยมและทัศนคติของผู้บริหารสูงสุด (นายกรัฐมนตรี) ให้กับผู้ปฏิบัติงานทราบ (leader’s statement) จนสามารถสร้างเป็นแรงผลัก/แรงกดเชิงนโยบายได้ นอกจากนี้ จะต้องเร่งสร้างค่านิยม/แนวคิดให้กับผู้ปฏิบัติงาน/หน่วยงาน ไม่เห็นว่างานด้านยาเสพติดเป็นงานนอกเหนือจากงานประจำของตน (งานฝาก) แต่ต้องให้เกิดค่านิยมว่า เป็นงานประจำ และปัญหาร่วมกันที่ต้องบูรณาการ
4) ใช้แนวทาง area approach เป็นตัวตั้ง/ยุทธศาสตร์หลักในการทำงาน ลดภารกิจ (functions) ที่ซับซ้อนกันในเชิงพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจใช้กลไกของจังหวัดเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ร่วมกับกลไกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่เข้ามาเสริม
5) เร่งการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ให้ประชาชนและสังคมทราบและเข้าใจ มีความเชื่อมั่นในการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและตื่นตัว (awareness) ในปัญหา และร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด จนสามารถเป็นแรงผลักทางอ้อมให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
6) เร่งถ่ายทอดนโยบายให้กับทุกภาคส่วนเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายร่วมกัน และเมื่อตัวนโยบายได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะต้องดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน
7) ให้ความสำคัญกับชุมชน (เข้มแข็ง) ในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และการร่วมอำนวยการแก้ไขปัญหา
8) ให้ความสำคัญกับระบบการข่าว ให้มีความทันสมัย ถูกต้อง และบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
9) ใช้มาตรการทางกฏหมายอย่างเคร่งครัด และปรับกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงหลักนิติธรรม
10) จัดระบบงบประมาณ และทรัพยากรในการปฏิบัติงานให้เหมาะสม รวมถึง การสร้างระบบกลไกในการจูงใจผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด และการจัดการอย่างเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
11) พัฒนาสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการกับปัญหายาเสพติดในมิติต่างๆ ได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน)
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร. 02-7191546-7