กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--OK MASS
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจังหวัดสงขลา บริเวณหมู่ที่ 1 บ้านบ่อตรุ หมู่ที่ 2 บ้านเจดีย์งาม และหมู่ที่ 3 บ้านพังขี้พร้า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างหนัก บางส่วนรุนแรงถึงขั้นถนนริมชายหาดบางช่วงได้รับความเสียหายพังทลายเนื่องจากน้ำทะเลกัดเซาะสิ่งปลูกสร้าง และบ้านเรือนได้รับความเสียหายพังทลายเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการนำหินใหญ่มาวางเรียงเพื่อป้องกันคลื่น และได้นำท่อคอนกรีตเสริมเหล็กมาวางเรียงตามแนวชายฝั่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะ แต่การป้องกันดังกล่าวยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งสูงกว่า 5 เมตร/ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ที่ระบุว่าชายฝั่งทะเลบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่วิกฤต ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท กรมเจ้าท่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ และเห็นสมควรที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มีค่าบำรุงรักษาต่ำเพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐบาลในระยะยาว โดยว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ออโรร่า เทคโนโลยี แอนด์ เอ็นจีเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นกลุ่มวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความชำนาญงานในด้านวิศวกรรมชายฝั่ง ดำเนินการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นระยะทางยาวประมาณ 6 กิโลเมตร โดยมีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ หน้าโรงเรียนบ้านบ่อตรุ ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม เป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงการชี้แจงรายละเอียด พร้อมรับฟังความคิดเห็นเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในลักษณะ ร่วมคิด ร่วมให้ความเห็นและร่วมตัดสินใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลาง หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อการดำเนินโครงการของภาครัฐ ซึ่งผลจากการประชุมปฐมนิเทศของโครงการนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนโครงการและชี้แนะแนวทางการปรับปรุงโครงการให้เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนการตัดสินใจดำเนินโครงการ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 9,980,000บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2555
หากโครงการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถป้องกันและบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา อีกทั้งช่วยลดการสูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างชายหาด ถนนเลียบชายหาด และสร้างทัศนียภาพชายฝั่งสงขลาให้ดียิ่งขึ้น