กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ศอส.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด พร้อมเตือน 9 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งที่ขยายวงกว้างใน 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลาง และลุ่มน้ำโขง ส่วนในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย. จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทั้งนี้ ได้ประสานให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ประสานการดำเนินงานกับอำเภอ และองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายภาณุ แย้มศรี ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 141 อำเภอ 1,052 ตำบล 8,088 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 583,370 ครัวเรือน 1,927,120 คน ผู้เสียชีวิต 158 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,727,694ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 32 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 74 สาย ใน 20 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำป่าสัก อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอลำปลายมาศ อำเภอสตึก อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมือง อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอตระการพืชผล อำเภอเดชอุดม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอปัญจาคีรี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำมากคาดว่าน้ำจะล้นตลิ่งภายใน 1-2วันนี้ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ แม่น้ำโขง ที่อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายมีน้ำมาก คาดน้ำจะล้นตลิ่งในวันนี้ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,236 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,703ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,170 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 8 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี
นายภาณุ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย. ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่อีกทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกจะมีฝนตกชุกกับฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในระยะ 7 วันนี้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มและใกล้ทางน้ำไหลผ่าน บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตราย ในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
นายภาณุ กล่าวเตือนยังมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มรวม 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง (อำเภอเถิน) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ) อุบลราชธานี (อำเภอน้ำยืน) ตราด (อำเภอเกาะช้าง อำเภอบ่อไร่) จันทบุรี (อำเภอเขาคิชกูฎ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอเมือง) นครนายก (อำเภอปากพลี) ระยอง (อำเภอเขาชะเมา) และระนอง (อำเภอละอุ่น) จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำภาคตะวันออก (แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำนครนายก) ลุ่มน้ำมูล (อำเภอเมือง อำเภอขามทะเลสอบริเวณท้ายเขื่อนลำคอง จังหวัดนครราชสีมา) ลุ่มน้ำชี (อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อำเภอปัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น) ลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลาง
ทั้งนี้ ศอส. ได้ประสานให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานการดำเนินงานกับอำเภอ และองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมในการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม พร้อมเตรียมการแจ้งเตือนและจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากสถานการณ์วิกฤติให้เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในทันที
0-2243-0674 0-2243-2200
www.disaster.go.th