กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ศอส.
ศอส. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด พร้อมเตือน 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และ 2 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เฝ้าระวังดินถล่มในระยะ 1-2 วันนี้ ตลอดจนประสานจังหวัดสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินต่อไป
นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและ
การบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 144 อำเภอ 1,075 ตำบล 8,031หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 563,010 ครัวเรือน 1,877,106 คน ผู้เสียชีวิต 136 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,727,694 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 27 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 76 สาย ใน 19 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ลุ่มน้ำยม
ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอกบินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอตระการพืชผล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมือง อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อำเภอจังหาร ทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ลุ่มน้ำโขง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,128 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,715 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี มีน้ำล้นตลิ่งเพิ่มขึ้น ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 97 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุ ร้อยละ 116 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ
นายฉัตรป้อง กล่าวต่อว่า ในช่วงวันที่ 22 - 23 กันยายน 2554 จะมีฝนตกหนักใน 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 1-2 วันนี้ ได้แก่ อุบลราชธานี (อำเภอนาจะหลวย บุณฑริก น้ำยืน น้ำขุ่น) ศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุนหาญ )
ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยเพื่อจ่ายเงิน 5,000 บาท ศอส.ได้กำชับให้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการบูรณาการการทำงานโดยใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์(GIS) ข้อมูลของGISTDA และกฟภ.มาใช้ในการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นไปอย่างทั่วถึงพร้อมประสานจังหวัดดำเนินการป้องกันและกำจัดปลิงที่กำลังระบาดในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเร่งรัดการสำรวจข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน พร้อมจัดส่งข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายในวันที่ 26 กันยายน 2554 จังหวัด เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินโดยด่วนต่อไป