กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ส.อ.ท.
ตามที่ ภาครัฐได้มีนโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือน แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1 ซึ่งติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5(15) แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ใช้ไฟฟ้าฟรี โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เหลือรับภาระดังกล่าวแทน นั้น
จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายย่อย (ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในปี 2552 พบว่ามีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยประมาณ 9.1 ล้านราย โดยที่รัฐบาลต้องอุดหนุนค่าไฟฟ้าประมาณ 14,400 ล้านบาทต่อปี
ในเรื่องนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือน เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เพราะว่าภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น 12 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น 3 — 5 %ของค่าไฟฟ้าเดิม และภาระนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพิ่มขึ้น หรือจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน มีจำนวนรายมากขึ้น
ข้อดีการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือน
ลดค่าครองชีพด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 8 - 9 ล้านครัวเรือน
ข้อเสียการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือน
ปัจจุบันภาคเอกชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 12,000 — 15,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จะไม่ประหยัดการใช้ไฟ โดยจะส่งผลเสียในระยะยาว
จะมีผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มจำนวนขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นภาระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
ระบบฐานข้อมูลการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าไม่ครบถ้วนหรือทันสมัย
ประเด็นนำเสนอของสภาอุตสาหกรรมฯ
ควรจัดตั้งงบประมาณประจำปี มาใช้ดำเนินการเพื่อรับภาระดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจำนวนงบประมาณที่ใช้จ่ายไปในแต่ละปีได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถที่จะบริหารจัดการได้อีกด้วย
ซึ่งประเด็นนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ในส่วนการที่จะมีการปรับลดจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าฟรี จากเดิม 90 หน่วยต่อเดือน นั้น สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี เนื่องจากได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสจริงๆ