กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--อุทยานการเรียนรู้
ปัจจุบันการทำธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจในยุคใหม่จึงต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด Social Enterprise หรือ SE สำนักงานอุทยานเรียนรู้ TK park , นิตยสาร a day , บริษัท change fusion , มูลนิธิ อโชก้า และ บริษัท Open Dream จึงได้ร่วมกันจัดโครงการ Knowledge No Limit! บริษัท เรียนรู้ไร้ขีด จำกัด ขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ไฟแรงที่เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 18 — 25 ปี ส่งไอเดียแผนธุรกิจเพื่อสังคมจากแนวคิด Social Enterprise หรือ SE แผนธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้โดยไม่จำกัดรูปแบบ ภายใต้โจทย์การตั้งชื่อธุรกิจ แรงบันดาลใจของธุรกิจ ลักษณะและรูปแบบการดำเนินการธุรกิจ งบประมาณ และธุรกิจดังกล่าวก่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคมไทยได้อย่างไร
หลังเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีเยาวชนสนใจส่งไอเดียแผนธุรกิจเข้าร่วมกว่า 20 ทีม และคณะกรรมการได้คัดเลือกจนเหลือ 10 ทีมสุดท้าย เพื่อชิงทุนการศึกษาพร้อมเงินทุนตั้งต้นรวมทั้งสิ้น 180,000 บาท ล่าสุด ได้มีการประกาศผลทีมผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 รวมถึงรางวัลไอเดียโดนๆ อีก 4 รางวัลขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ก.ย. 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 8 อุทยานการเรียนรู้ TK park
โดยผู้ชนะเลิศ ‘ไอเดียแผนธุรกิจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ’ ในโครงการ Knowledge No Limit ! บริษัท เรียนรู้ไร้ขีด จำกัด เป็นผลงานของ “ ทีมCOMMON ROOM” ด้วยรูปแบบกิจการภายใต้แนวคิด “สังคมออนไลน์แลกเปลี่ยนกันอ่านผ่านทางเว็บไซต์” โดยนอกจากจะได้เงินทุนตั้งต้นกิจการ 100,000 บาทแล้ว ยังได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท จาก TK park และเป็นสมาชิกของนิตยสาร a day ฟรี 1 ปี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นผลงานของ “ ทีมEdu-Deo” ซึ่งเป็นการนำเสนอไอเดียแผนธุรกิจในรูปแบบของเว็บไซต์สอนหนังสือ www.edu-deo.com ภายใต้แนวคิด“ติวเตอร์ออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ฟรีๆ!!” และรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นผลงานที่ชื่อว่านิตยสารตัวใหญ่ ของ “ทีมนิตยสารตัวใหญ่ ” ซึ่งเป็นนิตยสารไทยที่จะมาเอาใจเหล่าบรรดาผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด“อ่านแบบสุขใจ ไม่ต้องใส่แว่นขยาย” โดยทั้งสองทีมจะได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท และ 10,000 บาทตามลำดับ สำหรับรางวัลไอเดียโดนๆ มีทั้งสิ้น 4 รางวัล ได้แก่ ทีม SiS home , ฝรั่งคาเฟ่ , อยากรู้ และ หิ้วหนังฉาย โดยจะได้รับทุนศึกษาทีมละ 5,000 บาท
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า “ โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการใหญ่ที่เรียกว่า โครงการ TK แจ้งเกิดที่มีด้วยกัน 5 สาขา ได้แก่ งานเขียน หรือวรรณกรรม , ภาพยนตร์ , ไอที , TK Band และการตลาด ซึ่งเป็นการบ่มเพาะเยาวชนเพื่อที่จะมุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพ และมุ่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย ถึงระดับอุดมศึกษา จนกระทั่งผู้ประกอบการหน้าใหม่ และต้องการให้เยาวชนได้รับ
ประสบการณ์จากวิทยากรมืออาชีพ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนใหม่ๆ และพร้อมที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไปในอนาคต”
ด้านนายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด นิตยสาร a day กล่าวเสริมว่า “เมื่อก่อนเราจะได้ยินว่า ทำอย่างไรจะจัดการทรัพยากรให้ได้กำไรสูงสุด แต่วันนี้แนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป จะได้ยินใหม่ว่า เราจะจัดการทรัพยากรให้ได้ความสุขและแบ่งปันให้สังคมสูงสุดได้อย่างไร ... วันนี้ น้องๆ จะถือเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าใจและได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้น้องๆอยู่ในโลกและสังคมใหม่อย่างรู้เท่าทัน พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้น้องๆ ซึ่งเป็นเยาวชนในวันนี้ ร่วมกันเป็นโซ่ข้อเล็กๆ ที่จะร่วมกันดึงสังคมให้เป็นสังคมที่มีการแบ่งปันเพื่อยกระดับสังคมไนให้ดีขึ้น ”
นายเฉลิมกรณ์ ทรัพย์เพริศพราย ตัวแทนทีม common room กล่าวถึงความโดดเด่นของแผนธุรกิจที่นำมาซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ว่า ด้วยรูปแบบกิจการที่เป็นสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันหนังสือ โดย common room จะเป็น Community ใหม่ของคนรักการอ่าน เพราะจะเป็นแหล่งที่รวบรวมสำนักพิมพ์ นักอ่านหน้าใหม่และนักเขียนสุดเจ๋งมารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันหนังสือ เช่น หนังสือที่มีอยู่แล้วตามบ้านนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้อ่าน แทนการปล่อยทิ้งไว้ให้ปลวกกัดกิน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า โดยการวางระบบรากฐานการแบ่งปันหนังสือ การจัดเก็บและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบผ่านช่องทางเว็บไซต์ และมือถือที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายได้หลักของ common room นั้น นายเฉลิมกรณ์ ชี้แจ้งว่า จะมาจากการตอบรับการเป็นสมาชิก และจากสำนักพิมพ์ที่ได้ช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ๆ รวมถึงเม็ดเงินจากค่าโฆษณา อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดของไอเดียแผนธุรกิจของทีม common room ที่มีสมาชิกร่วมกันอยู่ด้วยกัน 4 คน เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนต่างสถาบัน ทั้งจากมหาวิทยาลัยหาการค้าไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้หวังรายได้สูง หรือกำไรเยอะ แต่อยากเห็นตัวเลขยอดคนไทย รักการอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็นพอ!!
ขณะที่นางสาวนวลแพร่ สง่างาม หนึ่งในทีมนิตยสารตัวใหญ่ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงความรู้ว่าหลังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ว่า “ รู้สึกดีใจที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเดิมที่เราทำงานกันอยู่ทีมเดียวไม่มีโอกาสได้มองเห็นถึงมุมมองของทีมอื่นๆ ว่าเขาคิดอย่างไร การที่เราได้เห็นงานของคนอื่น ทำให้เราสามารถนำกลับมาพัฒนางานของเราเองได้
หลังจากได้รับการบ่มเพาะที่วิกหัวหิน ทำให้ได้รับความรู้และเกิดความชัดเจนในการทำธุรกิจมากขึ้น จึงได้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับแผนธุรกิจที่เขียนไว้เดิมที่ต้องการผลิตเพื่อจำหน่าย มาเป็นรูปแบบของนิตยสารแจกหรือ free copy ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรง จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วและดีกว่าการวางขาย โดยหลังจากนี้จะเตรียมเปิดตัวนิตยสารตัวใหญ่ภายในเดือนพ.ย.นี้ ที่สวนลุมพินี เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากสังคม เพราะเนื้อหาที่มุ่งนำเสนอเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และความตั้งใจที่จะเป็นสื่อยุคใหม่ที่สร้างกำไรตอบแทนสังคม ด้วยการนำรายได้ส่วนหนึ่งไปจัดซื้อแว่นตาเพื่อบริจาคให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จะเห็นว่า “นิตยสารตัวใหญ่ ไม่ใช่แค่ ฟร้อนท์ใหญ่ ไซส์หนังสือใหญ่ แต่ใจของพวกเขาก็ใหญ่ไม่แพ้กัน”
ด้านนายวรุตน์ เก่งกิตติภัทร ตัวแทนทีม Edu-Deo กล่าวด้วยว่า เว็บไซต์สอนหนังสือที่จัดทำขึ้นนี้ ทำขึ้นด้วยใจรักเป็นทุนเดิม และได้ทำมาก่อนหน้าแล้ว แต่รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เรา
ทำนั้น มาถูกทางแล้ว หลังจากนี้จะเริ่มเดินหน้าต่อไป โดยจะมีการพัฒนาโปรแกรมการสอนของวิชาอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่เปิดสอนอยู่เท่านั้น
สมาชิกของทีม Edu-Deo เป็นการรวมกลุ่มกันของเพื่อนชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีแนวความคิดเหมือนกันว่า ต้องการกระจายความรู้สู่น้องๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชาราคาแพง บวกกับมีใจรักในการสอนหนังสือ และความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่อัดแน่น จึงได้รวมตัวกันสร้างติวเตอร์ออนไลน์ขุนทรัพย์ทางปัญญาให้กับน้องๆ ระดับชั้นมัธยมปลายสายวิทย์ ผ่านเว็บไซต์ที่เปิดสอนผ่านระบบ Steaming Video
นอกจากนี้นายวรุตน์ ยังกล่าวอีกว่า “ ด้วยค่านิยมของคนไทยส่วนใหญ่มักมองว่า คนเก่งจะต้องเป็นหมอหรือวิศวเท่านั้น ส่วนคนที่เข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์เพราะไปสอบที่ไหนไม่ติดนั้น ความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้า เพราะความจริงแล้วหากไม่มีวิทยาศาสตร์ ก็คงไม่มีหมอ เพราะทุกวันนี้โลกมีความก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ด้วยวิทยาศาสตร์ จึงเป็นที่มาของไอเดียแผนธุรกิจดังกล่าว”