สถาบันฯสิ่งทอ เผยข้อมูลทางรอดสิ่งทอไทยพร้อมโชว์ศักยภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอกว่า 100 รายการ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 27, 2011 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดงานสัมมนา มองสิ่งทอไทย..ในทศวรรษแห่งเอเชีย เผยข้อมูลสิ่งทอเชิงลึกและผลการดำเนินงาน 5 โครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท พร้อมโชว์ศักยภาพตัวอย่างผ้าผืนไทยสู่ตลาดอาเซียนและBIMSTEC รวมกว่า 100 รายการ และผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีฟอกย้อมตกแต่งสำเร็จใน 4 Collection นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรมการผลิตไทย คือสร้างมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนถึงร้อยละ 8.9 และมีการจ้างงานถึง 1 ล้านคน โดยยอดส่งออกตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา 4,983 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 19 ขณะที่ทั้งปี 2553 มียอดส่งออกรวม 7,679 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดในภูมิภาคเอเชีย (ASEAN) ซึ่งกำลังกลายเป็นตัวจักรสำคัญทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่ง และเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีประชากรถึง 600 ล้านคน ทำให้กลายเป็นแหล่งแรงงานต้นทุนต่ำ อีกทั้งการเริ่มต้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 หรือ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะทำให้ตลาดและฐานการผลิตถูกเชื่อมโยงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตในอาเซียน เพื่อการส่งออกสิ่งทอ ผ้าผืน เส้นด้าย ไปตัดเย็บในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ของอาเซียนต่อไป จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ สนับสนุนให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งทอเชิงลึก เพื่อจัดหา จัดทำข้อมูล ข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการก้าวทันต่อสถานการณ์การผลิต การตลาดตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย รวมทั้ง โครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ในปี 2551 จนถึงปี 2554 จึงได้จัดงานสัมมนา มองสิ่งทอไทย...ในทศวรรษแห่งเอเชีย เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ในวันนี้ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ปัจจุบัน การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลก มีมูลค่ารวมถึง 618,579 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่งออกจากเอเชียสู่ตลาดโลกสูงถึง 60 % คิดเป็นมูลค่า 369,548 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยมียอดส่งออกซึ่งถือเป็นส่วนแบ่งจากยอดดังกล่าว 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมา ถึง 20 % และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2011 จะส่งออกสูงถึง 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า โอกาสของเอเชียต่อการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกไปพร้อม ๆ กับเอเชียได้ หากเรานั้นมีการปรับตัวและพัฒนาอย่างเนื่อง โดยอาศัยข้อมูลและการติดตามสถานการณ์รวมทั้งระบบดัชนีเตือนภัยอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งทอเชิงลึก เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสทางการค้าได้ และอีกส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสามารถแข่งขันได้ คือ โครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพอุตสาหกรรม ที่สถาบันฯได้ดำเนินการ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเพื่อสนองตอบผู้ผลิตในประเทศและสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียน และ BIMSTEC** (ระยะที่ 3) โครงการได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูล Company profile และ Country profile ของประเทศเป้าหมายในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและ BIMSTEC คือ ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และศรีลังกา ให้มีความสมบูรณ์และพร้อมใช้งาน โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจขยายการลงทุนหรือเชื่อมโยงสร้างพันธมิตรทางการค้าได้ นอกจากนี้ยังได้มีพัฒนาผ้าผืนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 100 รายการ เช่น ผ้าขนหนูกลิ่นหอม ผ้ามุ้งใส่คุณสมบัติกันยุง ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่ตกแต่งเพิ่มสมบัติพิเศษ เป็นต้น โดยนำไปจัดแสดงในกิจกรรม Business Matching ภายในงาน Dhaka International Yarn & Fabric show 2011 ณ เมืองดักกา ประเทศบังคลาเทศ โดยมีผู้สนใจถึง ร้อยละ 33 ในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าผืนภายในงาน เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของไทยมีจุดแข็งคือมีการออกแบบที่สวยงาม คุณภาพสูง มีความแตกต่างจากสินค้าของจีนและอินเดีย ทั้งยังมีสัมพันธ์ที่ด ี ต่อลูกค้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนที่ควรเร่งพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้ คือ เรื่องต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยเมื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพบว่า อยากให้มีการขยายกิจกรรมดังกล่าวไปยังกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งแก้ไขจุดอ่อน จะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนั้น ขับเคลื่อนเข้าสู่ประตูการค้าในอาเซียนและ BIMSTEC ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2553 ถึง 42,221 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 12.4 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขนาดความต้องการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของตลาดอาเซียนและ BIMSTEC นั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วอีกทั้งยังเป็นตลาดที่อยู่ใกล้กับไทย การรุกตลาดดังกล่าวจึงเป็นกลยุทธ์ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งต่อไป 2.โครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอและผ้าผืนด้วยเทคโนโลยีฟอกย้อมตกแต่งสำเร็จเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอและผ้าผืนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติ (Function) และมีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้และแข่งขันในตลาดได้ โดยมีกลุ่มโรงงานและผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด 10 รายจาก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์ รวมผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมด้านการย้อมและตกแต่งสำเร็จ จำนวน 115 คน พร้อมดำเนินการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอและผ้าผืนจำนวน 10 รายการ รวมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 4 Collection คือ ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืน 2 Collection ประกอบไปด้วย 1. Spa Collection นำร่องวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ้าสปา ผ้าในโรงแรม ที่มีกลิ่นหอมจากธรรมชาติ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส ช่วยผ่อนคลาย รวมทั้งว่านหางจระเข้ วิตามิน ช่วยให้ผิวพรรณผ่องใสและให้ความชุ่มชื่นกับผิวหนัง 2. Bag Collection นำร่องวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ กระเป๋าไอแพต กระเป๋าเดินทางกันน้ำ และผลิตภัณฑ์ประเภทเคหะสิ่งทอ 2 Collection ประกอบไปด้วย 1. Kitchen Collection นำร่องวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ในครัว เช่น ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้ารองแก้ว สะท้อนน้ำมันไม่ซึมซับน้ำ ลดปัญหาคราบสกปรก เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน 2. Home Collection นำร่องวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน เช่น โซฟา ผ้าม่าน มู่ลี่ ที่สามารป้องกันแสงยูวี และป้องกันการลามไฟ เป็นต้น 3.โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล (Productivity Improvement in Textile and Garment Industry by Total Productive Maintenance : TPM) เพื่อพัฒนาให้บุคลากรในโรงงานสามารถใช้งานเครื่องจักรได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมพร้อมทั้งขจัดความสุญเปล่าต่าง ๆ อันเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต สามารถสร้างประสิทธิภาพของระบบการการผลิตไปสู่ขีดจำกัดสูงสุด โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมดจำนวน 38 โรงงาน แบ่งเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 23 โครงการ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 15 โครงการ โดยดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นการปรับปรุงเพื่อลดการสูญเสีย และการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า มีการพัฒนาระบบและการผลิตโดยใช้ระบบ TPM ทำให้สามารถลดต้นทุนหรือเพิ่มผลผลิตอย่างน้อย 10% ต่อโรงงาน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 177 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้มีการจัดทำหนังสือคู่มือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผล เพื่อการเผยแพร่จำนวน 500 เล่ม 4.โครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพ (Best Practices)เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและสร้างระบบการทำงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จคือ ระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ การเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไข ทดลองดำเนินการและเก็บข้อมูลซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการถ่ายทอดเพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางการดำเนินงานสำหรับโรงงานอื่น ๆ ต่อไปได้ สำหรับในปีนี้มีโครงการเข้าร่วมจำนวน 88 โรงงาน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมสิ่งทอ 34 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 54 โรงงาน ผลลัพธ์คือ สามารถสร้างแนวทางในการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและผลิตภาพดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องลดต้นทุนการผลิตอย่างน้อย 15% ต่อโรงงาน หากคิดเป็นมูลค่ารวมของทั้ง 88 โรงงานที่เข้าร่วม รวมแล้วไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาทต่อปี พร้อมกันนี้โครงการยังได้จัดทำหนังสือคู่มือ Best Practices เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพด้านการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เผยแพร่อีกเป็นจำนวน 500 เล่ม 5.โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการจัดทำและใช้ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมกำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัตราค่าจ้างแรงงานถือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาปรับขึ้นให้ลูกจ้างในแต่ละปี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถและความชำนาญการ แต่ในปัจจุบันการขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงยังไม่มีแนวทางและระดับที่เป็นมาตรฐาน การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงได้นำร่อง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือพนักงาน พร้อมสร้างหน่วยงานต้นแบบสำหรับทดสอบทักษะฝีมือพนักงาน โดยเฉพาะ ช่างย้อมและช่างเย็บ เพื่อวัดระดับและสร้างระดับทักษะฝีมือของพนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในโครงการ และนำไปกำหนดเป็นแนวทางให้ค่าตอบแทนเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถ โดยมีโรงงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 2 โรงงาน และโรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 2 โรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือพนักงานใน 2 อาชีพ คือ ช่างย้อมและช่างเย็บให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ มีการจัดระดับทักษะเป็น 3 ระดับ ระดับแรก ผู้ปฏิบัติการ ระดับที่สอง ผู้ชำนาญงาน และระดับที่ 3 ผู้ชำนาญงานพิเศษหรือครูฝึก ซึ่งได้มีการทดสอบทักษะฝีมือพนักงานใน 2 อาชีพในโครงการ พบว่า ผ่านเกณฑ์การทดสอบถึง 98 % ส่งผลให้โรงงานในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มทั้ง 2 บริษัท สามารถลดต้นทุนด้านแรงงานของพนักงานเย็บได้มากกว่า 10% โดยมีตัวชี้วัดคือ การทำงานที่มีทักษะ มีคุณภาพและรวดเร็วมากขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทออีก 2 บริษัทนั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานย้อมได้มากกว่า 10% คิดเป็นมูลค่า 15 ล้านบาทต่อปี และได้จัดทำหนังสือคู่มือการพัฒนาทักษะฝีมือและวิธีการประเมินความรู้ของทั้ง 2 อาชีพ เผยแพร่เป็นจำนวน 500 เล่ม นอกจากนี้ ยังสามารถจัดตั้งหน่วยงานทดสอบฝีมือแรงงาน ภายในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการได้ทั้ง 4 โรงงาน ซึ่งถือเป็นโรงงานต้นแบบ และได้มีการเริ่มใช้ระบบการจัดทำและใช้ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงานในเบื้องต้น พร้อมกำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สถาบันฯ คาดว่า การดำเนินโครงการทั้งหมด จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสามารถนำความรู้ ข้อมูลเชิงลึก และระบบเตือนภัยอุตสาหกรรมไปใช้ในการจัดทำแผนกลยุทธ์การบริหารและจัดการธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเพื่อเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งเอเชียที่กำลังจะมาถึง ** BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศ ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยประเทศสมาชิกจะต้องมีภูมิประเทศติดอ่าวเบงกอล หรือพึ่งพิงอ่าวเบงกอลเป็นหลัก (ที่มา กระทรวงต่างประเทศ)** มยุรี คำสะอาด ประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยแพร่ ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2713 5492 - 9 ต่อ 201 prthaitextile

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ