กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ปภ.
รัฐบาลโดยคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสั่ง ปภ. จัดหาเรือพายขนาดเล็ก 5,000 ลำ พร้อมจัดคาราวานส่งมอบเรือในวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัยใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมทั้งกำชับ ปภ. ให้บริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเข้าถึงทุกพื้นที่
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดรายการพิเศษ“รวมพลังไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” โดยเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ได้อนุมัติเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำไปจัดหาเรือพายขนาดเล็ก จำนวน 5,000 ลำ เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัยใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่ง ปภ. ก็ได้ดำเนินการจัดหาเรือเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจึงได้ จัดพิธีปล่อยคาราวานสิ่งของและเรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 เวลา 11.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการจัดส่งเรือให้แก่พื้นที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และชัยนาท จังหวัดละ 500 ลำ รวม 2,000 ลำ
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า พื้นที่เป้าหมายในการส่งมอบเรือทั้ง 4 จังหวัด เป็นจังหวัดที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย ที่ค่อนข้างรุนแรง มีระยะเวลาการเกิดน้ำท่วมขังนาน และคาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งการจัดส่งเรือจะทำให้การอพยพผู้ประสบภัย การขนย้ายสิ่งของ การเดินทางของประชาชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความสะดวก รวมถึงส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงช่วยลดความสูญเสียจากการขาดทรัพยากรในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับเรือที่เหลืออีก 3,000 ลำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ดำเนินการส่งมอบในระยะต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานงานกับจังหวัดที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเกิดประโยชน์สูงสุดและเข้าถึงทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของ ผู้ประสบอุทกภัย ความจำเป็น ความเหมาะสม ความต้องการและความรุนแรงของสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก