กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--ตลท.
บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น พร้อมเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 29 ก.ย. 2554 หลังระดมทุนกว่า 400 ล้านบาท ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "APCS"
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น หรือ APCS จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2554 เป็นต้นไป APCS เป็นบริษัทจดทะเบียนรายที่สองที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อร่วมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียน โดย APCS จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลโดยไม่จำกัดวงเงินตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนถึง ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาครบอายุของบัตรส่งเสริมการลงทุนของบริษัทฯ
APCS ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนโลหะที่มีความเที่ยงตรงสูง (High Precision Parts and Components) ที่ทำจากโลหะประเภทต่างๆ โดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กล้องถ่ายภาพดิจิตอล เป็นต้น APCS มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 225 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 75 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO: Initial Public Offering) ในราคาหุ้นละ 5.45 บาท เมื่อวันที่ 21-23 ก.ย. 2554 มูลค่าระดมทุนรวม 408.75 ล้านบาท พร้อมนี้ผู้ถือหุ้นเดิมได้นำหุ้นมาร่วมเสนอขายอีก 12.25 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่าย
"นอกจากการมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนแล้ว APCS ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลจาก BOI ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการเพิ่มศักยภาพของบริษัทให้มีโอกาสสร้างผลกำไรได้มากขึ้นอีกด้วย” นายชนิตรกล่าว
นายอภิชาติ การุณกรสกุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. เอเซีย พรีซิชั่น เปิดเผยว่า “บริษัทรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการซื้อเครื่องจักร ก่อสร้างโรงงานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระเงินกู้ โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย จากผลการดำเนินงานที่แสดงรายได้รวมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 610 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 908 ล้านบาทในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ขณะที่รายได้รวมงวด 6 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 482 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 436 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 10%”
สำหรับ ระดับราคา IPO ที่ 5.45 บาทต่อหุ้น มาจากการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของผู้ลงทุนสถาบัน โดยคิดอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ประมาณ 9.32 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมปี 2553 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 142.46 ล้านบาท และหารด้วยจำนวนหุ้น 243.75 ล้านหุ้น (ข้อมูลตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนของ APCS ) APCS มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองตามกฎหมาย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ APCS 2 ราย หลัง IPO ได้แก่ กลุ่มครอบครัวการุณกรสกุล ถือหุ้น 63.28% บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น อิควิตี้ เอเซีย ถือหุ้น 4.08 %
ผู้ลงทุนและผู้สนใจดูรายละเอียดได้จากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.asiaprecision.com และที่เว็บไซต์ www.set.or.th