กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
สื่อสิงคโปร์ เผยประทับใจทีเคพาร์ค ชี้ สะท้อนศักยภาพด้านบวก การคิดริเริ่ม และการสร้างสรรค์ของคนไทย โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเปิดกว้างแก่เยาวชน พร้อมยอมรับทีเคพาร์ค ช่วยเปิดมุมมองประเทศไทยใหม่ นอกเหนือจากข่าวสารด้านการท่องเที่ยว และสถานการณ์ทางการเมือง
เมื่อ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีกำหนดแผนปฏิบัติการของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน ที่ต้องการมุ่งให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร จึงต้องส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในภูมิภาคด้านต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของกันและกัน เพื่อส่งเสริมรากฐานที่จะนำไปสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน
ในโอกาสนี้ อุทยานการเรียนรู้ หรือ ทีเคพาร์ค ในฐานะ “ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ” จึงได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของคณะสื่อมวลชนจากประเทศสิงคโปร์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน โดยมี ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ร่วมด้วยผู้บริหารสอร.และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับคณะฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา
“มันดูทันสมัย น่าจะดึงดูดคนหลากวัยหลายกลุ่มได้ดี บริการที่มีก็น่าสนใจมาก ครอบคลุมสื่อหลากหลายรูปแบบ เด็กและวัยรุ่นน่าจะชอบ เห็นแล้วน่าใช้เวลาช่วงพักผ่อนวันหยุดที่นี่” นิชา รัมจันดานี (Nisha Ramchandani ) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ธุรกิจ Business Times กล่าวหลังการเยี่ยมชม
ดาร์วิส โมหะหมัด ซาอิด (Darwis Mohammad Said) นักข่าวจากโต๊ะข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์มาเลย์ Berita Harian ให้ความเห็นด้วยว่า “ การผสมผสานศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ของทีเคพาร์ค เป็นจุดที่น่าสนใจมากสำหรับผม เป็นการประยุกต์และผสมผสานที่ดูลงตัว”
“ฉันว่ามันดูลงตัวกับการใช้งานมาก เป็นนวัตกรรมการสร้างสรรค์ที่น่าสนใจมากที่เปิดทางเลือกให้คนได้เข้ามาไม่แค่เรียน (ผ่านสื่อ) แต่ลงมือเรียนรู้ได้ด้วย ซึ่งฉันว่ามันสำคัญมากสำหรับเด็กและเยาวชนที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้เช่นนี้” วอง สือหยั่น (Wong Siyan) รองหัวหน้าแผนก (ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์) กระทรวงสารนิเทศ การสื่อสารและศิลปะสิงคโปร์ (Ministry of Information, Communications and the Arts หรือ MICA) กล่าว
ทั้งนี้ รัมจันดานี , โมหะหมัด ซาอิด และสือหยั่น เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานด้านสื่อมวลชนจากสิงคโปร์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่สารนิเทศไทย-สิงคโปร์ครั้งที่ 8 หรือ Information Officers’ Exchange Programme (IOEP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือประจำปีระหว่างกระทรวงต่างประเทศไทยและ MICA ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา
นางสาวเมริกา วรรณสิน นักการทูตชำนาญการกองการสื่อสารมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า “ แต่ละปีโครงการความร่วมมือฯ จะมีประเด็นหลักแตกต่างกันไป ปีนี้เราเน้นให้เห็นภาพรวมในหลากหลายด้านทั้งทางวัฒนธรรม สื่อ การเมือง สังคม ต่าง ๆ ตลอด 5 วันที่ผ่านมา เราพยายามให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกับคนทำงานด้านสื่อ องค์กร และสมาคมสื่อในเมืองไทย พาไปดูหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยที่สุพรรณบุรี
สำหรับที่ทีเคพาร์คนั้น เราตั้งใจให้พวกเขาสัมผัสอีกมุมของสังคมไทยในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่าน เพราะเราหวังว่าการรับรู้ในหลากหลายมุมที่กว้างและรอบด้านขึ้น จะทำให้ความเข้าใจระหว่างสื่อและคนทำงานด้านนี้ในไทยและสิงคโปร์ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการประสานเครือข่ายในอนาคตที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสี่ปีข้างหน้าด้วย (ปี 2015 หรือ พ.ศ. 2558)”
“ นี่เป็นครั้งแรก..ที่ฉันได้มีโอกาสเห็นด้านนี้ของเมืองไทย มันน่าประทับใจนะคะ และเพิ่งทราบว่าทีเคพาร์คได้รับแรงบันดาลใจจากการไปดูงานห้องสมุดที่สิงคโปร์ด้วย ตอนที่เจ้าหน้าที่ทีเคพาร์ค อธิบายถึงเรื่องนี้ ฉันก็นึกออกทันทีว่าเขาพูดถึงส่วนไหนของห้องสมุดในสิงคโปร์ แม้จะมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่ฉันคิดว่ามีกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ชัดเจน เหมือนมีลายเซ็นอยู่ในการสร้างสรรค์ของทีเคพาร์ค” รัมจันดานี ผู้สื่อข่าววัย 29 ซึ่งทำข่าวด้านธุรกิจ สังคม และท่องเที่ยวมากว่า 4 ปี กล่าว
สำหรับผู้สื่อข่าวการเมืองรุ่นใหญ่วัย 51 ปี ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนมากว่า 17 ปี อย่าง โมหะหมัด ซาอิด เขาให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “ ผมเคยได้ยินเรื่องทีเคพาร์คมาบ้างแต่ไม่มาก รู้แต่เป็นอะไรใหม่ ๆ ที่นี่ พอมาเห็นก็ทึ่งกับการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมกับไอที และอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว มันดูมีชีวิตชีวา ทั้งมุมด้านการออกแบบ ด้านนวัตกรรม การเข้าถึงได้ง่าย สิ่งที่สัมผัสได้ ศักยภาพด้านบวกของสังคมไทย พลังในการสร้างสรรค์ ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญมากในการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของสังคมไทยโดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา”
“ฉันไม่เคยได้ยินเรื่องราวของทีเคพาร์คมาก่อนค่ะ นี่เป็นครั้งแรก! ประหลาดใจเหมือนกันพอรู้ว่าที่นี่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิงคโปร์ มีหลายอย่างที่ฉันคิดว่าทางสิงคโปร์น่าจะได้มาเรียนรู้จากที่นี่ด้วยเช่นกัน เพราะคุณได้ประยุกต์แรงบันดาลใจเหล่านั้นและใส่บริบทความเป็นไทยเข้าไปอย่างน่าสนใจ” สือหยั่น เจ้าหน้าที่ด้านสื่อ วัย 25 ของ MICA กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้ง รัมจันดานี , โมหะหมัด ซาอิด และสือหยั่น ยอมรับว่าเมืองไทยมีแง่มุมที่พวกเขายังไม่ค่อยได้รับทราบมาก่อน แม้โดยส่วนตัวล้วนเคยมาเมืองไทยมาก่อน และมีโอกาสติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของประเทศไทยผ่านสื่อมาพอสมควร
“ฉันดีใจที่มีโอกาสที่ดีมากที่ได้รู้จักสังคมไทยในมุมที่มากขึ้น ก่อนนี้ฉันคิดถึงเมืองไทยจะเห็นแต่ภาพการท่องเที่ยว การมาครั้งนี้ทำให้ฉันได้เห็นอีกด้านของเหรียญ ได้เห็นและเข้าใจการทำงานของคนทำสื่อในเมืองไทยซึ่งมีมุมมองต่อประเด็นข่าวน่าสนใจมาก เช่นเดียวกับความหลากหลายแง่จำนวนซึ่งมากกว่าในสิงคโปร์มาก คราวหน้าฉันคงต้องกวาดตามองหาชื่อคนเขียนข่าวเวลาดูข่าวประเทศไทยมากขึ้น ที่สำคัญโอกาสที่ได้รู้จักมุมนวัตกรรมการเรียนรู้ที่นี่ คราวหน้าถ้ามีโอกาสมาเยือนกรุงเทพอีกครั้ง ฉันไม่พลาดแน่ค่ะที่จะแวะมาที่ทีเคพาร์คอีก จะได้มาดูพัฒนาการ ดูบรรยากาศของเด็ก ๆ เข้ามามีประสบการณ์การเรียนรู้ที่นี่ให้นานกว่านี้” สือหยั่น กล่าว
“ฉันประทับใจทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนทำสื่อ การเยี่ยมชมที่นี่เปิดมุมมองฉันมากต่อสังคมไทย และก็ชอบหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยด้วย ฉันไม่ลืมประสบการณ์ครั้งแรกบนหลังควายแน่ ๆ “รัมจันดานี กล่าว
“วิสัยทัศน์ของการผสมผสานศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบและเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนผ่านรูปธรรมที่นี่ น่าประทับใจ” โมหะหมัด ซาอิด ผู้สื่อข่าวจาก Berita Harian กล่าวในตอนท้าย