(ต่อ6) สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2546

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2003 14:43 —ThaiPR.net

7. สรุปสถานการณ์และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปสถานการณ์และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ สรุปจนถึงขณะนี้ไม่พบผู้ป่วย SARS ที่ติดเชื้อในประเทศไทย และยังไม่มีการแพร่ระบาดในชุมชน
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข
เพื่อป้องกันประชาชนในประเทศให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการพิเศษหลายประการในอันที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทย แม้จะมีการพบผู้ป่วยในประเทศบ้างแล้วแต่ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ด้วยความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ จึงยังไม่ปรากฏการแพร่กระจายเชื้อต่อไปในชุมชน องค์การอนามัยโลกจึงรายงานว่าประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ มาตรการสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการดำเนินงานอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด คือ การเฝ้าระวังค้นหาผู้ที่มีอาการสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคให้ได้โดยเร็วทั้งในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและในหมู่คนไทย ให้การดูแลผู้สงสัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด และรีบรับผู้ป่วยเข้ารักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ
มาตรการและการดำเนินงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ
1. เฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ทั้งทางเครื่องบิน ทางเรือ รถยนต์ และรถไฟ ณ จุดผ่านแดนทุกแห่ง โดยเน้นการตรวจค้นหาผู้ที่มีอาการสงสัยและให้การดูแลควบคุมมิให้มีการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว โดยมีมาตรการสำคัญคือ
- ขอความร่วมมือสายการบิน/เรือให้ตรวจสอบผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง แจกแบบสอบถามเพื่อกรอกข้อมูลประวัติที่จำเป็น สังเกตอาการผู้โดยสารบนเครื่อง/เรือ หากมีผู้ที่มีอาการสงสัยให้แจ้งด่านควบคุมโรคก่อนลงจอด
- เมื่อเข้าประเทศให้มีการตรวจสุขภาพผู้เดินทางทุกราย ณ จุดผ่าน หากพบผู้มีอาการสงสัยให้แยกกักเพื่อสอบสวน ติดตามสังเกตอาการ และให้การรักษาโดยทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการขอให้หยุดงาน/หยุดเรียนเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน 10 วัน หากเป็นนักท่องเที่ยวให้ใช้หน้ากากอนามัยตลอด 10 วันแรกหลังเดินทางเข้าประเทศ หรือให้มีใบรับรองแพทย์ทุก 3 วัน รายละเอียดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5/2546 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ Health passport เพื่อให้คำแนะนำแจกแก่ผู้เดินทางที่ด่านควบคุมโรคทุกแห่ง
- ขอความร่วมมือบริษัทท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งให้บริการและรับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ที่มีการระบาดติดตามเฝ้าระวังสังเกตอาการนักท่องเที่ยวในระยะ 10 วันแรกหลังเดินทางเข้าประเทศ และรายงานกระทรวงสาธารณสุข
1.1 ผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังโรค ณ ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม - 7 มิถุนายน 2546 มีการตรวจผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโดยทางเครื่องบิน 4,465 เที่ยวบิน เรือ 1,301 ลำ รถยนต์ 1,192 คัน รถไฟ 30 ขบวน และเดินเท้า 2,864 คน รวมจำนวนผู้ผ่านแดนที่ได้รับการตรวจทั้งหมด 410,764 คน (เฉลี่ยวันละประมาณ 6,000 ราย ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมจำนวนผู้เดินทางจากพื้นที่ที่เสี่ยงลดลง) ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 325,892 คน และคนไทย 85,476 คน พบผู้ที่ต้องสังเกตอาการที่ด่านฯ 108 คน มีอาการสงสัยต้องส่งเข้าสังเกตอาการในโรงพยาบาล 39 คน คิดเป็นร้อยละ 0.01
1.2 ผลการติดตามคนไทยที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2546 จำนวน 43,498 คน มีการติดตามซักถามอาการที่บ้าน 10 วัน พบผู้มีอาการไม่ปกติที่ต้องติดตามสอบสวนโรคเพียง 30 คน
2. เผยแพร่คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ โดยเน้นการใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไอ/จาม หรือมีอาการของโรคหวัด และเน้นการล้างมือบ่อย ๆ อยู่เสมอ รวมถึงจัดทำรายงานข่าวประจำวันโรคซาร์ส และบริการตอบข้อซักถามประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโทรศัพท์ 0 2590 1991 โทรศัพท์สายด่วน 1669 และเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.-ddc.moph.go.th/sars_center.html ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีผู้โทรศัพท์สอบถามขอข้อมูลและคำแนะนำในช่วงเดือนมีนาคมเฉลี่ยวันละประมาณ 1,000 ราย เดือนเมษายนลดลงวันละประมาณ 500 ราย และในเดือนพฤษภาคมซึ่งสถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น จำนวนผู้โทรศัพท์สอบถามลดน้อยลงเหลือประมาณวันละ 200 ราย
3. กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการประสานงานกับ AOC ในการขอความร่วมมือสายการบินให้มีการคัดกรองผู้โดยสารก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศ (Pre - departure screening for SARS) ในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกประเทศ รวมทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามข้อตกลงในที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศจีนสมัยพิเศษ วันที่ 29 เมษายน 2546 ณ กรุงเทพมหานคร
4. ปรับแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยยังเน้นการแยกผู้ป่วย/ผู้สงสัยอย่างเคร่งครัด และให้มีการป้องกันโรคแก่บุคลากรอย่างเข้มงวด และให้มีการประเมินความพร้อมของโรงพยาบาลในการดูแลบำบัดผู้ป่วยและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
5. จัดทำแผนปฏิบัติการสร้างความพร้อมป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงของประเทศไทย ทั้งระดับส่วนกลางและระดับส่วนภูมิภาค รวมทั้งการเตรียมการซ้อมแผนต่อไปด้วย
6. สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยจัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคพร้อมปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง และจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคกรณีมีการแพร่เชื้อในท้องถิ่น
7. เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปให้จัดเตรียมห้องแยกสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงตามมาตรฐานที่กำหนด
8. จัดประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ความร่วมมือในนโยบายและแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และมีความพร้อมรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
9. ร่วมในการประชุม APEC-SOM ครั้งที่ 2 วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ซึ่งได้มีการนำเรื่องโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงเสนอต่อที่ประชุมด้วย จากผลการประชุมได้มีการรับรองข้อเสนอของประเทศไทยในการป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ซึ่งมีข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์โรค ความคืบหน้า และปรับมาตรการป้องกันโรคการตรวจผู้เดินทางให้สอดคล้องกัน รวมทั้งให้ความร่วมมือกันในการพัฒนากลวิธีป้องกันโรค SARS
10. ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค SARS ในการประชุม APEC-SOM ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่21 - 30 พฤษภาคม และ APEC Ministerial Meeting วันที่ 1 - 3 มิถุนายน 2546 ที่จังหวัดขอนแก่น และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่เดินทางมาประชุม ด้านสถานที่ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดทีมแพทย์/พยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลให้พร้อมรับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าอาจป่วยด้วยโรค SARS เผยแพร่เอกสารคำแนะนำต่าง ๆ สำหรับผู้เดินทาง คำแนะนำสำหรับโรงแรมและให้ความรู้แก่พนักงานโรงแรม
11. ร่วมในการประชุมความร่วมมือเอเชียด้านการท่องเที่ยว (ACD Tourism Business Forum) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอันเนื่องจากโรคซาร์ส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจัดโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ
12. ขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนสั่งให้นักเรียน/นักศึกษาที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดหยุดเรียนและเฝ้าสังเกตอาการอยู่ที่บ้านก่อนจนครบ 10 วันหลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยไม่ถือเป็นวันลา และให้คำแนะนำแก่โรงเรียนเพื่อป้องกันโรคแก่นักเรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน
13. เข้าร่วมในการประชุม China - ASEAN Entry - Quarantine Management Meeting on SARS ระหว่างวันที่ 1 - 2 มิถุนายน 2546 ณ กรุงปักกิ่ง
14. เข้าร่วมในการประชุม Special ASEAN Senior Officials of Health Meeting on SARS และ Special ASEAN + 3 Senior Officials of Health Meeting on SARS ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2546
15. เข้าร่วมในการประชุม Special Meeting ASEAN+3 Ministry of Health ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10 - 11 มิถุนายน 2546
16. เตรียมจัดการประชุม Special Meeting APEC-SOM ในวันที่ 27 มิถุนายน 2546 และการประชุมAPEC Health Ministers Meeting on SARS ในวันที่ 28 มิถุนายน 2546 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ร่วมกันจัดทำร่างกำหนดการประชุม ซึ่งจะได้นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะทำงาน Industrial Science and Technology Working Groups, ISTWG วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ที่จังหวัดขอนแก่น
17. เตรียมการนำเสนอเรื่องสถานการณ์และการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรค SARS ในที่ประชุม TheThird Malaysia - Thailand Conference on Health ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2546
18. พิจารณาให้การสนับสนุนบางกิจกรรมของแผนงานพัฒนาระบบการป้องกันโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นเงิน 1,700 US$--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ