กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--เวิรฟ
3 ยังก์ดีไซเนอร์ไทยผู้ชนะโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011
เยือนไร่ฝ้าย ณ เมืองเบเกอร์ฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทำความรู้จัก “ฝ้าย” เส้นใยเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งวงการแฟชั่น
ด้วยคุณสมบัติพิเศษอันโดดเด่นของเส้นใย “ฝ้าย” ที่ไม่เพียงแต่ให้สัมผัสความนุ่มสบายและไม่ระคายเคืองผิวต่อผู้สวมใส่แล้ว “ฝ้าย” ยังเป็นเส้นใยที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง เพราะ“ฝ้าย” นั้นสามารถปลูกทดแทนได้ และ “ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม” ที่ผลิตจากเส้นใยฝ้ายยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอีกด้วย คอตตอน ยูเอสเอ จึงจัดทริป “U.S. Cotton Fashion Inspired Trip” พายังก์ดีไซเนอร์ผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่งและสองจากเวที “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” การแข่งขันออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า โดยใช้ผ้าฝ้ายแท้ 100% ที่มีส่วนผสมของฝ้ายสหรัฐอเมริกาไม่น้อยกว่า 50% เป็นวัตุดิบในการตัดเย็บ ภายใต้คอนเซปต์ “Hollywood Movie Inspired — แรงบันดาลใจจากโลกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด” ไปเยี่ยมชมกระบวนการเพาะปลูกฝ้ายถึงเมืองเบเกอร์ฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านแฟชั่นและทำความรู้จักกับ “ฝ้าย” เส้นใยธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของแฟชั่นระดับโลกอีกด้วย
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า คอตตอน ยูเอสเอได้พาน้องๆยังก์ ดีไซเนอร์ผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่งและสอง จากเวทีแข่งขัน “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011” รวม 3 คน คือ นายณัฐกิตติ์ แป้นถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชนิศ ศรีอาจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนางสาวปิยะรัตน์ พรศักดิ์พัฒนกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าร่วมทริป “U.S. Cotton Fashion Inspired Trip” เดินทางสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านแฟชั่นให้กับน้องๆทั้งสาม พร้อมด้วยโอกาสในการสัมผัส เรียนรู้ และทำความรู้จักกับเส้นใยฝ้ายที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยเยี่ยมชมกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวฝ้ายที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆ กระบวนการ ณ ไร่ฝ้าย Starrh & Starrh Cotton Growers ที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
มิสเตอร์แลรี่ สตาร์ฮ ผู้ปลูกและเจ้าของไร่ฝ้าย Starrh & Starrh Cotton Growers กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คอตตอน ยูเอสเอ ได้นำยังก์ดีไซเนอร์ทั้งสามจากประเทศไทยมาเยี่ยมชมไร่ฝ้ายแห่งนี้ เพราะ“ฝ้าย” เป็นเส้นใยธรรมชาติที่ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะสวมใส่มากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นเพราะการให้สัมผัส
ที่นุ่มสบายและไม่ระคายเคืองผิวต่อผู้สวมใส่ ต้นฝ้ายยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยวงจรชีวิตของฝ้ายเริ่มจากการเพาะปลูกเมล็ดฝ้ายในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม ซึ่งต้นฝ้ายจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง หลังจากนั้นต้นฝ้ายจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเจริญเติบโตจากดอกฝ้ายกลายเป็นสมอฝ้าย ผู้ปลูกจึงเริ่มเก็บเกี่ยวและส่งต่อไปยังโรงหีบ (Gin) เพื่อคัดแยกใยฝ้ายและเมล็ด ก่อนที่จะอัดใยฝ้ายให้เป็นก้อนเพื่อส่งต่อให้กับผู้ผลิตเพื่อแปรรูปเป็นเส้นด้าย”
นอกจากนี้มิสเตอร์สตาร์ฮ ยังได้กล่าวเสริมถึงประโยชน์ของต้นฝ้ายที่น้อยคนนักที่จะรู้อีกด้วยว่า “ต้นฝ้าย 1 ต้นประกอบด้วย เมล็ด เส้นใย และกากฝ้าย ทุกส่วนประกอบของต้นฝ้ายเกษตรกรสามารถนำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เมล็ดสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันเล็ดฝ้ายเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ และมีโปรตีนสูง ส่วนเส้นใยจะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเส้นด้าย เพื่อส่งต่อไปยังกระบวนการทอผ้านำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าและสิ่งทอต่างๆ ที่มีผิวสัมผัสนุ่มสบาย ไม่ระคายเคืองผิว สวมใส่ได้ทุกฤดูกาล อีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สุดท้ายกากฝ้ายยังสามารถทำเป็นปุ๋ยชีวภาพได้อีกด้วย” มิสเตอร์ สตาร์ฮ กล่าว
นายณัฐกิตติ์ แป้นถึง หรือน้องมิค นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011 กล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาเห็นไร่ฝ้าย กระบวนการเพาะปลูกฝ้าย และฝ้ายสายพันธุ์ต่างๆ อาทิเช่น พันธุ์ ACALA และพันธุ์ Pima ซึ่งฝ้ายพันธุ์ Pima เป็นฝ้ายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกเพราะเส้นใยจะยาวกว่า เวลาปั่นจะทำให้ได้เส้นด้ายที่เล็ก แข็งแรงทนทาน นอกจากนี้ยังทำให้ผมรู้จักฝ้ายมากขึ้นว่าฝ้ายมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าต้นฝ้ายหนึ่งต้นสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด ต้องขอขอบคุณคอตตอน ยูเอสเอ มากครับที่เปิดโอกาสให้ผมและเพื่อนๆได้มีโลกทัศน์ด้านแฟชั่นที่กว้างขึ้น ได้ศึกษาและทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแฟชั่น ซึ่งนั่นก็คือ แหล่งวัตถุดิบที่เป็นเหมือนต้นน้ำของวงการแฟชั่นนั่นเองครับ”
นายไกรภพ กล่าวต่อว่า “และเพื่อเป็นการเติมเต็มประสบการณ์แฟชั่นระดับโลก คอตตอน ยูเอสเอ ยังได้พาผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับสองและสามในโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2011 เยี่ยมชมบรรยากาศ “ฮอลลีวู้ด” หลังจากที่น้องๆได้นำภาพยนต์ฮอลลีวู้ดที่ตนชื่นชอบมาออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อแข่งขันภายใต้คอนเซปต์ “Hollywood Movie Inspired — แรงบันดาลใจจากโลกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด” ซึ่งฮอลลีวู้ดถือเป็นต้นกำเนิดของภาพยนต์เลื่องชื่อที่อยู่ในใจของผู้คนทั่วโลก ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งประวัติศาสตร์ของโรงถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นเมืองที่เป็นเจ้าภาพในการประกาศรางวัลอะคาเดมี่อวอร์ด หรือที่เรียกกันติดปากว่ารางวัลออสการ์ และยังเป็นที่ตั้งของถนนฮอลลีวู้ดวอล์กออฟเฟม (Hollywood Walk of Fame) ”
นอกจากนี้ คอตตอน ยูเอสเอ ยังได้พายังก์ดีไซเนอร์ทั้งสามเข้าชมแฟชั่นโชว์การแข่งขัน “สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพททิชั่น” (Supima Design Competition) ใน 2011 New York Fashion Week โดยสุพีม่านับเป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการใช้ฝ้ายพิม่าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งฝ้ายสายพันธ์พิม่านี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ้ายสายพันธ์ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะด้วยเอกลักษณ์ของเส้นใยที่มีความยาวเป็นพิเศษ เมื่อถักทอเป็นผ้าจะมีความละเอียด มีสัมผัสที่เนียนนุ่ม ลื่น และมีความทนทานกว่าเส้นใยชนิดอื่นๆ และ ยังก์ดีไซเนอร์ไทย “ยอด โยโกะ” ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์ 2008 ยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้างรางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันออกแบบและตัดเย็บชุดราตรี“สุพีม่า ดีไซน์ คอมเพททิชั่น 2009” ที่จัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์ก อีกด้วย
เกี่ยวกับคอตตอน ยูเอสเอ (COTTON USA)
เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้รับการออกแบบและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1989 โดย คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ซีซีไอ (COTTON COUNCIL INTERNATIONAL: CCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เนชั่นนัล คอตตอน เคาน์ซิล (National Cotton Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คอตตอน ยูเอสเอมีตัวแทนกว่า 26 แห่ง ทั่วโลก ในประเทศไทย “คอตตอน ยูเอสเอ” ทำหน้าที่ขยายฐานกลุ่มไลเซนซี (Licensees) ของคอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิต แบรนด์ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ “คอตตอน ยูเอสเอ” ยังมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจเกี่ยวกับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ ที่สามารถปลูกทดแทน และให้ความสบายเมื่อสวมใส่