กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย
โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จัดงานเปิดตัวนิตยสารน้องใหม่ล่าสุด “ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด” SCIENCE ILLUSTRATED ฉบับภาษาไทย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และเป็นประเทศในลำดับที่ 16 ของโลก ร่วมพูดคุยกับ 3 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในโลกของวิทยาศาสตร์ ให้ทุกสาระเป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับทุกวัย
หลังประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดีจากนิตยสารหัวนอกชั้นนำอย่าง ELLE, ELLE DECORATION, CLEO, MARIE CLAIRE และ MARTHA STEWART LIVING บริษัท โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวนิตยสารหัวนอกน้องใหม่ล่าสุด ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด (SCIENCE ILLUSTRATED) ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยได้ถูกจัดพิมพ์และแปลออกเป็นภาษาต่างๆ จำหน่ายในกว่า 15 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเป็นลำดับที่ 16 โดยเริ่มวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และวางจำหน่ายไปแล้วจำนวน 4 ฉบับจนถึงปัจจุบัน
ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด (SCIENCE ILLUSTRATED) เป็นนิตยสารที่มุ่งเน้นการให้ความรู้จากโลกของวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและเพลิดเพลินเพื่อสร้าง “ประสบการณ์และการเดินทางอันน่าตื่นตาตื่นใจในโลกวิทยาศาสตร์” โดยในแต่ละฉบับจะนำผู้อ่านเดินทางผ่านกาลเวลาและระยะทางอันยาวไกลสู่โลกของวิทยาศาสตร์ในทุกๆ สาขาอย่างหลากหลายใน 4 หัวข้อหลักสาระความรู้ที่ประกอบไปด้วย วัฒนธรรม เทคโนโลยี การแพทย์ และ ธรรมชาติ
โดยในงานเปิดตัวนิตยสาร ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด (SCIENCE ILLUSTRATED) ฉบับภาษาไทย ที่จัดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ ได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นประธาน โดยมีคณะผู้บริหาร บริษัท โพสต์ อินเตอร์ เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด นำโดย คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์, คุณสิรี อุดมฤทธิรุจ, คุณศุภกร เวชชาชีวะ พร้อมด้วย นายสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บรรณาธิการบริหาร ให้การต้อนรับ
นายสุธรรม ธรรมรงค์วิทย์ บรรณาธิการบริหาร เปิดเผยว่านิตยสาร ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด ฉบับภาษาไทย มีเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ โดยจุดเด่นที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก อยู่ที่เนื้อหาที่ได้คัดเลือกจากนักวิจัยชั้นเยี่ยมของโลกและนำเสนอออกมาในรูปแบบของสารคดีที่มีภาพประกอบและการจัดทำกราฟฟิกที่เข้าใจง่าย
“วิทยาศาสตร์หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ มีความสำคัญกับเราตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิต อย่างภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น วิทยาศาสตร์น่าจะเป็นคำตอบที่จะช่วยให้เราข้ามพ้นจากวิกฤติต่างๆ ไปได้ และหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าถึงและเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น”
พร้อมนี้ยังได้จัดให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย อาทิ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ผู้หญิงไทยคนแรกที่เดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกในขั้วโลกใต้ ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ ผู้บุกเบิกก่อตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ คุณแทนไท ประเสริฐกุล นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชื่อดัง มาร่วมให้ข้อคิดเห็นและมุมมองกับเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ เปิดเผยว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นสิ่งที่ง่าย เป็นเรื่องรอบตัว รอบครัว รอบบ้าน ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้จึงความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เยอะมาก เมื่อเราอยู่กับทุกสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เราจึงต้องทำความเข้าใจและใช้ให้เป็นประโยชน์
“ถ้าเด็กๆ สนใจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเริ่มจากการเรียนรู้หรือมองจากสิ่งรอบๆ ตัวก่อน แล้วพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ส่งเสริม อย่าคิดว่าการถูกถามเป็นเรื่องน่ารำคาญ เราควรส่งเสริมให้เขาถามมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสริมให้เขาไปหาคำตอบให้ได้ด้วยตนเอง ผ่านสื่อความรู้ต่างๆ เพื่อจุดประกายให้เด็กเกิดความสงสัยและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไทยเรียนเก่งไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ แต่รวมถึงศาสตร์อื่นๆ ด้วย” ดร.ธีระชัยกล่าว
ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ กล่าวถึงนิตยสารไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ดว่าเป็นสื่อความรู้และเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้เด็กและเยาวชนไทยรวมถึงคนทั่วไปหันมาสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัว และมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา
“สำหรับการเป็นนักวิทยาศาสตร์หลายคนอาจจะเข้าใจว่าต้องเรียนเก่ง แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องเรียนเก่งมากก็ได้ สิ่งสำคัญอย่างแรกก็คอต้องมีความใฝ่รู้ อยากรู้อยากเห็น และต้องรู้จักตั้งคำถามแล้วก็ต้องต้องพยายามหาคำตอบที่เราสงสัย ถ้าเรามี 3 อย่างคือใฝ่รู้ พยายามตั้งคำถามและค้นหาตอบ เราก็สามารถที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้” ดรสุชนากล่าว
นายแทนไท ประเสริฐกุล กล่าวว่าการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ต้องเรียนด้วยใจรัก ไม่ใช่เรียนด้วยความรู้สึกว่าต้องเรียน ต้องเรียนเพราะว่าเราอยากรู้ เรียนเพราะว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจ หรือยากรู้เพิ่ม แล้วก็ต้องขยันหาความรู้นอกตำราเยอะๆ ไม่ใช่ว่าคิดถึงแต่ข้อสอบจะออกอะไร
“เมื่อมีสื่อความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์เข้ามา ก็จะมาช่วยถ่วงดุลความสนใจของคนในสังคม เพราะทุกวันนี้คนทั่วไปในชีวิตประจำวันสนใจเรื่องอื่นกันมากไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ บันเทิง การกีฬา แต่สื่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ที่ปัจจุบันยังค่อนข้างขาดหายไป เพราะวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำให้เป็นเรื่องที่น่าสนุกและน่าสนใจได้” นายแทนไท ระบุร่วมสำรวจโลกวิทยาศาสตร์อันน่ามหัศจรรย์ กับ ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด (SCIENCE ILLUSTRATED) ฉบับภาษาไทย ได้แล้ววันนี้ทุกแผงหนังสือทั่วประเทศ