กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย และป้องกันภัยต่อประชาชน ว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยและเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับทราบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กระทรวงฯ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชนผ่านช่องทางสื่อสารสารสนเทศที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
“กระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงกลาโหม กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บจ.ไปรษณีย์ไทย ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชน
โดยจากการหารือสรุปว่า หน่วยงานรับผิดชอบที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน จะเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งกระจายข่าวสารให้แก่ประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในยามปกติ และขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารให้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อนำไปวิเคราะห์และตัดสินใจกรณีที่จะมีภัยพิบัติกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อนกระจายข้อมูลแจ้งเตือนภัยไปสู่ประชาชน หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยใช้ช่องทางต่างๆ อาทิ วิทยุภาคประชาชน วิทยุสื่อสาร หอกระจายข่าว สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย Social Network , website รวมถึงข้อความสั้น (SMS) ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนรับทราบได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือสังคมด้วยการสนับสนุนการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
สำหรับเกณฑ์การกระจายข้อมูลและข่าวสารของศูนย์เตือนภัยฯ นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.รายงาน เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิด คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย โดยจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยช่วยเหลือและกู้ภัย ตลอดจนประชาชน 2.เฝ้าระวัง เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและการเข้าใจผิดของประชาชน โดยจะกระจายข่าวให้กับผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลในการชี้แจงกับประชาชน
3. เตือนภัย เป็นการกระจายข่าวเมื่อคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ ที่จะเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยจะมีการให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิดคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย และ 4. ยกเลิก เป็นการกระจายข่าว เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติกลับสู่ภาวะปกติ และทำการตรวจสอบข้อมูลจากทุกๆ แหล่ง จนเป็นที่แน่ใจและเป็นไปตามเกณฑ์ยกเลิกสถานการณ์ของภัยแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีความปลอดภัย และให้หน่วยช่วยเหลือกู้ภัยดำเนินการบรรเทาสาธารณภัยได้ต่อไป
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT