การประชุม Steering Committee ครั้งที่ 1 (โครงการความร่วมมือด้านการบินพลเรือนระหว่างประชาคมยุโรป-เอเชีย)

ข่าวทั่วไป Thursday June 19, 2003 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ศูนย์ ปชส.กระทรวงคมนาคม
กรมการขนส่งทางอากาศ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Steering Committee ของ EU - Asia Civil Aviation Cooperration Project ณ โรงแรม Hilton International Hotel กรุงเทพมหานคร ซึ่งการประชุมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มจะประชุมกันอย่างเป็นเอกเทศ ซึ่งกลุ่มที่ 1 จะจัดประชุมกันที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา สำหรับประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมกลุ่มที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประเทศกัมพูชา อินโดนิเชีย ลาว และเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2546 และกลุ่มที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยการประชุมแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศต่างๆ ประเทศละไม่เกิน 4 คน คือ หน่วยงานของรัฐด้านการบิน 2 คน และหน่วยงานที่อยู่ในภาคปฏิบัติ 2 คน โดยมี นายวิชัย ประทีปปรีชา รองอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ทั้งสองวัน และเป็นประธานในการประชุมฯ ร่วมกับ Mr. Johan Cauwenbergh ตำแหน่ง First Counsellor of EC Delegation to Thailand ในการประชุมกลุ่มที่ 3 วันที่ 20 พฤษภาคม 2546 สำหรับผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางอากาศ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์การประชุมฯ เพื่อสรุปความต้องการในการฝึกอบรม สัมมนา ของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ และจัดทำตารางฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ในช่วง (Implementation) สำหรับการประชุม Steering Committee ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ปลายเดือนสิงหาคม 2546 ต่อไป
สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ให้ความเห็นชอบในความตกลงทางการเงินของโครงการความร่วมมือด้านการบินพลเรือนระหว่างประชาคมยุโรป-เอเชีย และให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการฯ โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลงนามในความตกลงฯ ทางการเงินดังกล่าว และเห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงิน 5,440,560 บาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้กรมการขนส่งทางอากาศขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เมื่อสามารถจัดทำแผนการใช้เงินที่ชัดเจนในแต่ละปีแล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) ได้ลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประชาคมฯ กับวงการบินของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 15 ประเทศ (บังกลาเทศ) ภูฐาน มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ในเอเชียใต้ และ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และเพื่อส่งเสริมการรับรู้ถึงอุตสาหกรรมการบินของประชาคมฯ ตลอดจนความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาการบิน ระบบความปลอดภัยและมาตรฐาน โดยโครงการนี้จะดำเนินการด้วยความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกรมการบินพลเรือนของแต่ละประเทศกับ The European Association of Aerospace Industries (AECMA) โครงการความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นประเด็นเฉพาะ 3 ประเด็น คือ 1. Airworthiness (มุ่งเน้นเรื่อง Aviation Safety Oversight Programme) 2. Air Traffic Management และ 3. Product Maintenance/Customer Support โดยความร่วมมือทั้ง 3 ประเด็น จะดำเนินการในรูปแบบการจัดให้มีสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรม การแสดงสินค้าจากต่างประเทศ
ต่อมากรมการขนส่งทางอากาศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2545 ณ สถาบันการบินพลเรือน โดยมี Mr.Sheel Shukla (Project Manager) ผู้เชี่ยวชาญจากยุโรป ผู้แทนบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันการบินพลเรือน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สายการบินต่างๆ และเจ้าหน้าที่ ขอ. เข้าร่วมหารือ โดยมีหัวข้อหารือ คือ 1.Customer/Product Support 2.Air Traffic Management 3.Pilot Training Subjects 4. Airline Management 5. Airport Management และวันที่ 27-28 มกราคม 2546 ผู้เชี่ยวชาญยุโรปเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ ขอ. สถาบันการบินพลเรือน และผู้แทนสายการบิน ในหัวข้อเรื่อง "Airworthiness, Flight standards and Safety oversight" เพื่อคณะผู้เชี่ยวยุโรปจะได้นำผลการหารือไปจัดทำตารางการฝึกอบรมสัมมนาในช่วง Implementation Phase ต่อไป--จบ--
-นค/พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ