กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--รฟม.
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มาตั้งแต่ปี 2540 และจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2547 เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดสาย รวมระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีหัวลำโพง ผ่านถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวเข้าถนนรัชดาภิเษก ผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนอโศก สี่แยกพระราม 9 สี่แยกสุทธิสาร เลี้ยวเข้าถนนลาดพร้าวที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ผ่านสวนสมเด็จย่า 84 สวนจตุจักร เข้าถนนกำแพงเพชร สิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางซื่อ
ลักษณะโครงสร้างสถานี
โครงสร้างสถานีเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ลึกจากผิวถนนประมาณ 15-25 เมตร สถานีจะมีความกว้างประมาณ 18-25 เมตร ยาวประมาณ 150-200 เมตร และโครงสร้างสถานีจะมี 3 ลักษณะ ได้แก่ โครงสร้าง 2 ชั้น, โครงสร้าง 3 ชั้น และโครงสร้าง 4 ชั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่
โครงสร้าง 2 ชั้น ประกอบด้วย
- ชั้นที่ 1 ชั้นโถงผู้โดยสาร เป็นสถานที่สำหรับซื้อและตรวจตั๋วโดยสารและแสดงแผนภูมิเส้นทางรถไฟฟ้า
- ชั้นที่ 2 ชั้นชานชาลา เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบ รับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบเท่านั้น ซึ่งเป็นระบบป้องกันความปลอดภัยและประหยัดพลังงานในการใช้ระบบปรับอากาศ
โครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย
- ชั้นที่ 1 ชั้นรวมผู้โดยสาร มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งเป็นชั้นแรกเมื่อลงจากทางขึ้น-ลงจะประกอบด้วยร้านค้าปลีกต่างๆ
- ชั้นที่ 2 ชั้นโถงผู้โดยสาร เป็นสถานที่สำหรับซื้อและตรวจตั๋วโดยสารและแสดงแผนภูมิเส้นทางรถไฟฟ้า
- ชั้นที่ 3 ชั้นชานชาลา เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบ รับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบสถานีเท่านั้น ซึ่งเป็นระบบป้องกันความปลอดภัยและประหยัดพลังงานในการใช้ระบบปรับอากาศ
โครงสร้าง 4 ชั้น ประกอบด้วย
- ชั้นที่ 1 ชั้นโถงผู้โดยสาร เป็นสถานที่สำหรับซื้อและตรวจตั๋วโดยสารและแสดงแผนภูมิเส้นทางรถไฟฟ้า
- ชั้นที่ 2 ชั้นชานชาลา เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบ รับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบสถานีเท่านั้น
- ชั้นที่ 3 เป็นชั้นห้องเครื่องสำหรับระบบต่างๆ เช่น พัดลมดูดอากาศ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น
- ชั้นที่ 4 ชั้นชานชาลาล่าง เป็นชั้นที่รถไฟฟ้าจอดเทียบ รับ-ส่งผู้โดยสาร ประตูจะเปิดและปิดเมื่อรถไฟฟ้าจอดเทียบสถานีเท่านั้น รูปแบบของสถานี ในการออกแบบจะคำนึงถึงสภาพใต้ดินที่ก่อสร้างทำให้รูปแบบของสถานี แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. รูปแบบชานชาลาข้าง (Station with Side Platform) : จะแยกชานชาลาสำหรับขาไปและขากลับ
2. รูปแบบชานชาลากลาง (Station with Central Platform) : ผู้โดยสารจะใช้ชานชาลาร่วมกันทั้งขาไปและขากลับ
3. รูปแบบชานชาลาที่มี 2 ชั้นหรือต่างระดับ (Station with Stack Platform) : จะใช้ก่อสร้างในกรณีที่ไม่มีพื้นที่ในการก่อสร้างเพียงพอ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบังคับ เช่น ท่ออุโมงค์ส่งน้ำของการประปา เสาเข็มยาวของสะพานลอยและอาคารสูง เป็นต้น--จบ--
-สส-