กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดย ประดิษฐ์ สหชัยยันต์
pradits@mail.ilct.co.th
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
paiboona@mail.ilct.co.th
ไอที กรุ๊ป
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
ครั้งที่แล้วเราได้คุยกันถึงปัญหาที่ท่านผู้อ่านหลายท่านสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในวันนี้เราจะคุยกันต่อเกี่ยวกับกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งได้เกริ่นไปบ้างแล้วในบทความครั้งที่ 1 ของผม คือ "พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545" ซึ่งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ตีความว่า การประกอบธุรกรรมผ่านทางอินเตอร์เน็ทที่เป็นการทำตลาดสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซท์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางนั้น หากมีความมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากเว็บไซท์นั้นถือได้ว่าเป็น "การทำตลาดแบบตรง" ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงตามมาตรา 27 หากผู้ใดฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับตามที่ระบุไว้ในมาตรา 47 และ 54 ประกอบกันครับ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคยังพิจารณายกเว้น ผ่อนผัน ยกเว้นโทษปรับให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรงอยู่ครับ ผมจึงอยากให้ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรงควรรีบขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรงดังกล่าวโดยเร็วครับ.
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเว็บไซท์ของท่านเป็นตลาดแบบตรงหรือไม่ ให้ท่านดูว่าเว็บไซท์ของท่านดำเนินธุรกิจ ดังต่อไปนี้หรือไม่ครับ
(1) เว็บไซท์ของท่านมีการให้บริการหรือซื้อขายสินค้ากับผู้บริโภคโดยตรงผ่านทางเว็บไซท์หรือไม่
(2) การให้บริการหรือซื้อขายสินค้าดังกล่าวเป็นการให้บริการโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคดำเนินการตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ หรือไม่
หากเข้ารายละเอียดทั้งสองประการ ถือได้ว่าเว็บไซท์ของสถานประกอบการของท่านเป็นการทำตลาดแบบตรง ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรงครับ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เว็บไซท์ thaiticketmaster.com ซึ่งเป็นเว็บไซท์ที่จำหน่ายตั๋วคอนเสริต์ หรือ รับจองตั๋วคอนเสริต์ผ่านทางอินเตอร์เน็ท การกระทำดังกล่าวของเว็บไซท์ thaiticketmaster.com จึงถือเป็นการทำตลาดแบบตรง เนื่องจาก เป็นการสื่อสารผ่านทางเว็บไซท์เพื่อขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือตัวอย่างเว็บไซท์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นตลาดแบบตรงคือ ธุรกิจเว็บไซท์ประเภทที่ให้มีการดาวน์โหลด ริงโทนหรือโลโก้ ผ่านทางอินเตอร์เน็ท ก็ถือว่าเป็นการทำธุรกิจตลาดแบบตรงเช่นเดียวกันครับ
เมื่อสรุปได้ว่าเว็บไซท์ของท่านเป็นการทำธุรกิจตลาดแบบตรงแล้ว การขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรงสามารถทำได้ 3 วิธีครับ คือ
(1) ยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
(2) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ
(3) จดทะเบียนผ่านทางเว็บไซท์ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (www.thaiconsumer.net)
โดยต้องส่งเอกสารดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง
(1) แบบคำขอธุรกิจตลาดแบบตรง - แบบ ขต.2 (ซึ่งสามารถขอรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) ซึ่งลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท
(2) สำเนาหนังสือรับรองและวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ให้บริการเว็บไซท์ที่ทำธุรกิจตลาดแบบตรง โดยสำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวต้องรับรองสำเนาถูกต้องและประทับตราสำคัญของกรรมการบริษัท
(3) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท
(4) สำเนาเว็บไซท์ของบริษัทที่มีลักษณะเป็นธุรกิจตลาดแบบตรงที่จะขึ้นทะเบียน
(5) ใบเสร็จรับเงินที่บริษัทออกให้แก่ผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ทหรือสัญญาซื้อขายบริการระหว่างบริษัทกับผู้บริโภคผ่านทางอินเตอร์เน็ท
ปัญหาคือ การทำธุรกิจออนไลน์บางประเภท หากบริษัทเจ้าของเว็บไซท์ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริโภคโดยตรงแต่เป็นการให้ตัวแทนเรียกเก็บจากผู้บริโภคเช่นนี้จะทำอย่างไร เช่น การให้บริการดาวน์โหลดริงโทน โดยผ่านบริษัทมือถือซึ่งบริษัทมือถือทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส (AIS) หรือ ดีแทค (DTAC) จะเป็นผู้เก็บเงินโดยคิดเป็นค่าบริการเสริมและนำรายได้ดังกล่าวมาส่งมอบให้บริษัทเจ้าของเว็บไซท์อีกครั้งหนึ่ง กรณีดังกล่าวนี้บริษัทเจ้าของเว็บไซท์ต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินดังกล่าวได้ เพื่อให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคสามารถเข้าใจถึงรายละเอียดการทำธุรกรรมดังกล่าวของท่าน
คำถามต่อมาที่ผู้ประกอบการหลายรายที่มักสอบถามเข้ามาคือ ธุรกิจทุกประเภทต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบแบบตรงหรือไม่ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับทราบว่า ธุรกิจดังต่อไปนี้ถือว่ายกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนตลาดแบบตรง เนื่องจาก มีกฎหมายควบคุมเฉพาะอยู่แล้ว อันได้แก่
(1) ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต
(2) ธุรกิจธนาคาร
(3) ธุรกิจการเช่าซื้อ (Leasing)
(4) ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์
(5) ธุรกิจที่อยู่ในความควบคุมของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.)
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าข้อมูลดังกล่าวข้างต้นคงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่ประกอบธุรกิจอินเตอร์เน็ทอยู่ในขณะนี้ และหวังว่าผู้ประกอบการทั้งหลายที่ยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และตลาดแบบตรงจะรีบดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกกฎหมายครับ "Better Late than Never" ดำเนินการล่าช้าดีกว่าไม่ดำเนินการเลยครับ--จบ--
-นห-