อีสานโพลเผย ลูกจ้างอีสานยอมรับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงหากไม่ได้รับผลกระทบแนะควรทำทันทีต้นปีหน้า

ข่าวทั่วไป Monday October 3, 2011 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 ก.ย.54 ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ค่าแรง 300 บาท กับ ลูกจ้างอีสาน” จากกลุ่มตัวอย่าง 400 ราย พบว่าหากนโยบายนี้ไม่ได้ดำเนินการทันที ลูกจ้างส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 40 จะได้รับผลกระทบปานกลาง และยอมให้ผู้ประกอบการทยอยปรับค่าแรงขึ้น 50-99 บาท/วัน ภายใน 3 เดือน หากไม่สามารถปรับขึ้นได้ทันทีต้นปีหน้า อาจารย์ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของลูกจ้างรายวันในภาคอีสานต่อนโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เป็นประเด็นพูดถึงกันมากที่สุดในเวลานี้ ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาอีสานโพลได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs อีสานไปแล้วรอบหนึ่ง ในครั้งนี้จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างรายวันจำนวน 400 ราย ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2554 ผลสำรวจมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ อัตราค่าแรงที่ลูกจ้างรายวันได้รับในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 180 บาท/วัน ร้อยละ 37.7 รองลงมาได้ค่าแรง 180-199 บาท/วัน ร้อยละ 28.1 ได้ค่าแรง 250 บาทขึ้นไป/วัน ร้อยละ 20.0 และได้แรง 200-249 บาท/วัน ร้อยละ 14.2 เมื่อถามต่อว่าหากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ไม่ดำเนินการในทันทีลูกจ้างจะได้รับผลกระทบในระดับใด ลูกจ้างส่วนใหญ่ร้อยละ 39.7 ตอบว่าได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง รองลงมาไม่ได้รับผลกระทบ มีร้อยละ 21.2 ผู้ที่จะได้รับผลกระทบระดับมาก มีร้อยละ 20.0 จะได้รับผลกระทบระดับมากที่สุด มีร้อยละ 13.0 และได้รับผลกระทบระดับน้อย มีร้อยละ 6.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความเห็นว่าหากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน มีการดำเนินการในทันทีแล้วเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ลูกจ้างจะเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า 1) หากส่งผลกระทบต่อสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับ ร้อยละ 65.5 ไม่เห็นด้วย 2) หากส่งผลให้นายจ้างลดจำนวนแรงงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ไม่เห็นด้วย 3) หากส่งผลให้ชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.9 ไม่เห็นด้วย และ 4)หากค่าแรงเพิ่มแล้วส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตาม ร้อยละ 40.9 ไม่เห็นด้วย เมื่อสำรวจความคิดเห็นในส่วนของรูปแบบและระยะเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ร้อยละ 54.8 เห็นด้วยกับวิธีการทยอยขึ้นค่าแรง หากการทยอยขึ้นค่าแรงจะไม่ส่งกระทบกับตัวแรงงาน และอีกร้อยละ 45.2 ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีทยอยปรับขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของลูกจ้างที่เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงนั้น ได้เสนอความเห็นในเรื่องรูปแบบและระยะเวลาในการปรับขึ้นว่า อัตราที่ควรปรับขึ้นมากที่สุดคือระหว่าง 50-99 บาท มากที่สุด ร้อยละ 42.3 รองลงมาควรปรับขึ้นในอัตราไม่เกิน 50 บาท ร้อยละ 38.9 และปรับขึ้นในอัตรา 100 บาทขึ้นไป ร้อยละ 18.8 โดยระยะเวลาในการปรับขึ้น ลูกจ้างเห็นว่าควรดำเนินการภายในระยะเวลา 1-3 เดือน มากที่สุดร้อยละ 87.1 รองลงมาควรดำเนินการภายใน 4-6 เดือน ร้อยละ 12.5 และภายใน 10-12 เดือน ร้อยละ 0.4 หากนายจ้างมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ลูกจ้างร้อยละ 26.1 มองว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอาหารได้เพิ่มขึ้น รองลงมาร้อยละ 23.8 จะใช้เก็บเป็นเงินออม ร้อยละ 20.3 จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรหลาน อีกร้อยละ 17.0 จะนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคทั่วไป และเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ร้อยละ 12.8 สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ลูกจ้างรายวันต้องการเป็นลำดับแรก ได้แก่ มาตรการเรื่องค่าแรง มากที่สุด ร้อยละ 37.0 รองลงมา การควบคุมราคาสินค้าร้อยละ 35.0 การปราบยาเสพติด ร้อยละ 12.8 การป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำ และอื่นๆ ตามลำดับ “นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท/วัน เป็นมาตรการที่ละเอียดอ่อนทั้งในแง่เศรษฐกิจและความรู้สึกของทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายควรมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีทางออกที่น่าพึงพอใจทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงเริ่มปรับตัวก่อนการใช้นโยบายจริง นอกจากนั้น ในส่วนของรัฐบาลเองก็ควรศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปอย่างรอบคอบ กล้าตัดสินใจดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และเตรียมมาตรการช่วยเหลือกับผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดอีกด้วย” อาจารย์ประเสริฐกล่าว ผลการสำรวจข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 400 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงจำนวน 215 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.8 เพศชายจำนวน 185 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.3 ช่วงอายุเฉลี่ย 26-35 ปีมากที่สุดจำนวน 158 ราย (ร้อยละ 39.3) รองลงมาอายุ 18-25 ปี จำนวน 125 ราย (ร้อยละ 31.1) อายุ 36-45 ปี จำนวน 82 ราย (ร้อยละ 20.4) และ อายุ 46-60 ปี จำนวน 37 ราย (ร้อยละ 9.2) โดยกลุ่มตัวอย่างจบมัธยมศึกษาเป็นส่วนใหญ่จำนวน 216 ราย (ร้อยละ 54.8) ประถมศึกษาจำนวน 122 ราย(ร้อยละ 31.0) ปวช./ปวส. จำนวน 47 ราย(ร้อยละ 11.9) และอื่นๆ จำนวน 9 ราย(ร้อยละ 2.3) มีครอบครัวแล้วจำนวน 293 ราย (คิดเป็นร้อยละ 73.1) โดยมีบุตรจำนวน 1 คน ร้อยละ 40.3 บุตรจำนวน 2 คน ร้อยละ 47.2 บุตรจำนวน 3 คน ร้อยละ 10.5 บุตรจำนวน 4 คน ร้อยละ 0.4 และบุตรจำนวน 5 ร้อยละ 1.6 ในส่วนที่ยังไม่มีครอบครัว จำนวน 108 ราย (ร้อยละ 26.9) ประเภทแรงงานส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในโรงงาน จำนวน 232 ราย (ร้อยละ 60.7) ลูกจ้างทั่วไป จำนวน 124 ราย (ร้อยละ 32.5) โดยแบ่งเป็นลูกจ้างภาคการค้าร้อยละ 59.3 และภาคบริการร้อยละ 40.7 รับเหมาก่อสร้างจำนวน 24 ราย (ร้อยละ 6.3) และอื่นๆ จำนวน 2 ราย (ร้อยละ 0.5) ส่วนสวัสดิการที่เคยได้รับจากนายจ้าง ส่วนใหญ่เป็นประกันสังคม ร้อยละ 31.8 รองลงมาได้แก่ เสื้อผ้า ร้อยละ 21.0 รถรับ-ส่ง ร้อยละ 15.3 ค่าล่วงเวลา ร้อยละ 15.0 อาหาร 7.8 และอื่นๆ ร้อยละ 9.0 รายชื่อคณะผู้วิจัย รศ.มันทนา สามารถ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ผศ.ดร.ก่อพงษ์ พลโยราช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ศุทธชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร อ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล นายเฉลิมชัย ตรีสุวรรณวัฒน์ นายสิทธิชน เก้าเอียน นายวรวุฒิ จันทร์มุก นางสาวสิรินรา วันวิเศษ นางสาวเอมมิกา กิจสมพงษ์ นางสาวณฐมน บัวพรมมี นางสาวสลักจิตร ศรีสถาพร นายณัฏฐ์ ธันยภรสกล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ