กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
๕ พันธมิตรประกาศความร่วมมือพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงพร้อมการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายกริด มุ่งหวังให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์การคำนวณสมรรถนะสูงระดับชาติ เพื่อรองรับโครงการการวิจัย e-Science ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากๆ เช่น ข้อมูลจีโนม ข้อมูลสภาพอากาศ จนถึงข้อมูลจากเครื่องเร่งอนุภาคขององค์กรวิจัยระดับนานาชาติอย่างเซิร์น นักวิจัยสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ และแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ทำการศึกษาวิจัยสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน การจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตร นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ จนไปถึงวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่าง ฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานของชาติ และ รองรับการวิจัยที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
๕ หน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์การคำนวณสมรรถนะภาพสูงระดับชาติ เพื่อรองรับการวิจัย e-Science หรือโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการe-Science เป็นโครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะนักวิทยาศาสตร์ไทยตามเสด็จฯ ไปเยือนองค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือเซิร์น ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีการทดลองเครื่องเร่งอนุภาคที่ทำหน้าที่บังคับให้อนุภาคชนกันที่ความเร็วสูงใกล้เคียงความเร็วแสง ซึ่งมีค่าประมาณ ๓ แสนกิโลเมตรต่อวินาที เพื่อค้นคว้าความเข้าใจทางฟิสิกส์พื้นฐานว่า สสารต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอันตรกิริยา (interaction) ต่อกันอย่างไร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยนี้ จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือระหว่าง เซิร์น กับ ประเทศไทย โดยประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารงานความร่วมมือระหว่างเซิร์นกับประเทศไทยขึ้น ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีคณะย่อยหนึ่งชุดซึ่งดำเนินงานตามพระราชดำริในการจัดตั้งกริดคอมพิวติ้ง สำหรับเชื่อมโยงกับเซิร์น โดยเรียกว่า National e-Science Infrastructure Consortium ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ระดับชาติ”
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือ ๕ หน่วยงานพันธมิตร จะใช้งบประมาณของตนเองในการลงทุนจัดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของแต่ละหน่วยงาน แล้วเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกริดโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium และจะเชื่อมโยงไปที่เซิร์น เพื่อดึงข้อมูลมาทำการวิจัยทางฟิสิกส์อนุภาคและในขณะเดียวกันก็จะให้เซิร์นใช้ทรัพยากรของเราเช่นกัน นอกจากนี้หน่วยงานภายใต้ความร่วมมือนี้จะสามารถใช้ทรัพยากรในโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium มาทำการวิจัยพัฒนาตามความต้องการของประเทศไทยด้วยอาทิ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เรื่องทรัพยากรน้ำ หรือ จะเป็นการคำนวณอื่นใดที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพื่อให้โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และ มีความยั่งยืน และช่วยยกระดับการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์พิ้นฐานด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ร่วมมือกับเซิร์นและ ในการทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในสาขาอื่นๆ
ตัวอย่างโครงการวิจัยพัฒนาที่จะใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมพิวเตอร์สมรถนะสูงประกอบด้วย
worldwide LHG Computing Grid
ระบบ AliEn GRIเครื่องตรวจหาอนุภาคที่เกิดจากการชนของไอออนหนักของเครื่องเร่งอนุภาค LHG ที่ CERN
งานวิจัยด้านการบริหารจัดการพลังงาน วิทยาการและวิศวกรรมเชิงคำนวณด้านการออกแบบทางวิศวกรรม
Bee-inspired algorithm for scientific applications
งานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
งานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ดร.ศรเทพ วรรณรัตน์
หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยการจำลองขนาดใหญ่
โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 2274
e-mail: sornthep.vannarat@nectec.or.th