สวช.จัดสัมมนาเชิงวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยสู่สาธารณชน

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2003 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สวช.
สวช.จัดสัมมนาเชิงวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยสู่สาธารณชน
เรื่อง "ศิลป์กับเซ็กส์ : กระบวนการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม?"
และเรื่อง "ศิลป์กับสังคม : การสืบสานวัฒนธรรม"
ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) แจ้งว่าตามที่ส่วนวิจัยและพัฒนา สวช.ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยทางวัฒนธรรม โดยได้มีการกำหนดแนวทางในการวิจัยของแต่ละภาคให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันนั้น ปรากฎว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2536-2544) ได้ผลงานวิจัยที่มีความหลากหลายและน่าสนใจหลายเรื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้มีผลต่อการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนสังคม อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคให้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การวิจัย ตลอดจนรับฟังแนวคิด ข้อเสนอแนะซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคต สวช. จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมสัมมนาวิชาการ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นผลงานวิจัยวัฒนธรรมจากภาคกลาง 2 ครั้ง ใน 2 หัวเรื่องใหญ่ คือ
ครั้งแรก วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ณ ห้องประชุมจุมพตพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่อง "ศิลป์กับสังคม (Arts and Society) : การสืบสานวัฒนธรรม" เป็นการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการดำรงอยู่หรือล่มสลายของศิลปะกับสังคมว่า มีเงื่อนไขและปัจจัยที่เป็นพลังผลักดันหรือเกี่ยวข้องอย่างไร รวมทั้งแนวโน้มในอนาคตจะมีกระบวนการสืบทอด สืบสาน หรือปรับตัวกันอย่างไร บทบาทของหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องควรเป็นอย่างไร ซึ่งการนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถือเป็นแนวทางประการหนึ่งในการคืนความรู้แก่สังคม เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและปรากฎการณ์ทางสังคม รวมทั้งการสกัดองค์ความรู้ที่เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลงานวิจัยที่จะนำมาเสนอมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น น้ำคำระคนเพลง คนธรรพ์บรรเลง ช่างและสถาปัตยกรรม วิถีช่าง วิถีไทย และชุมชน กับการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการปาฐกถานำ เรื่อง "ศิลป์กับการดำรงอยู่ในสังคม" โดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ด้วย
ครั้งที่สอง วันที่ 18 สิงหาคม 2546 ณ สถาบันวิทยบริการ ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่อง "ศิลป์กับเซ็กส์ (Arts and Sex): กระบวนการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม ?" เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและศิลปะที่มีความหลากหลายมากขึ้นในช่วงเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา ด้วยในสังคมสยาม เรื่องศิลปะถือกำเนิดและสืบเนื่องภายใต้เบ้าหลอมใหญ่ของวัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งมีปรัชญาในการสร้างสรรค์แตกต่างอย่างยิ่งกับปรัชญาการสร้างสรรค์ของศิลปะตะวันตกที่ผูกพันอยู่กับความคิดแบบปัจเจกบุคคล และมีการทำให้ศิลปะเป็นสินค้า ส่วนในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และอยู่รอบๆตัวกลับเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการปกปิด เป็นเรื่องที่ "ยากจะพูดถึงตรงๆ" และก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนในการกล่าวถึงเสมอมา จนในสังคมยุคสารสนเทศปัจจุบันที่โลกได้ย่นย่อให้มาอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นและมีปรากฏการณ์ทางเพศที่แสดงตัวออกมาหลากหลายโฉมหน้า ทำให้เกิดคำถามที่ชวนให้คิดว่า ตั้งแต่เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ จากการมี เพื่อก่อให้เกิดลูกหลาน กลายเป็นการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความสนุกสนาน รวมไปถึงปัญหารักร่วมเพศและประเด็นทางเพศอื่นๆ ในสังคมขณะนี้ การเกิดขึ้นและดำเนินไปของสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นทางวัฒนธรรมที่ได้กลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งต้องการคำตอบและการเข้าถึงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขร่วมกันจากทุกฝ่าย ดังนั้น การนำเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้จึงได้เลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นวัฒนธรรมดังกล่าว เพื่อเสนอข้อเท็จจริงทางสังคมและสรรหาข้อเสนอแนะที่อาจนำไปสู่ทิศทางการวิจัยทางวัฒนธรรมอื่นๆ รวมทั้งเป็นฐานคิดในการกำหนดนโยบายด้านวัฒนธรรมของชาติได้ต่อไป ซึ่งผลงานวิจัยที่นำเสนอมีหลายเรื่องด้วยกัน คือ เรื่องนาฎยศิลป์รัชการที่ 9 เรื่องการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และการต่อต้านของสาวคาราโอเกะ เรื่องวัฒนธรรมไทยในวรรณคดี ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์-เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เรื่องวาทศิลป์และสุนทรียภาพในบทเพลงไทยสากลร่วมสมัยยอดนิยม เรื่องอัตลักษณ์วัยรุ่นไทยกับการรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น: กรณีฟังเพลงญี่ปุ่นของวัยรุ่น และเรื่องการวิเคราะห์คุณลักษณะทางวัฒนธรรมไทยของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โดยจะมี Intro-Dialogue โดย ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ และนายนิวัติ กองเพียร และจบด้วยการบรรยายพร้อมชมนิทรรศการในหัวข้อเรื่อง "ดู-ดื่ม-เดา : เดินเท้าเสพย์ศิลป์" ทัวร์ 10 ก้าวชมนิทรรศการศิลปะ
การนำเสนอผลงานวิจัยทั้งสองรายการนี้ เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังและร่วมเสนอความคิดเห็นได้ โดยสามารถสำรองที่นั่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมมนาได้ที่ ส่วนวิจัยและพัฒนา สวช. โทร.02-247-0028 ต่อ 4301-3 ตามวันเวลาราชการ
กำหนดการประชุมสัมมนาวิชาการ
เรื่อง "ศิลป์กับสังคม (Arts and Society) : การสืบสานวัฒนธรรม
วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2546
ณ ห้องประชุมจุมกฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
08.00-08.30 น. ลงทะเบียน
08.30-08.45 น. พิธีเปิด โดยเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
08.45-09.45 น. ปาฐกถานำ เรื่อง ศิลป์กับการดำรงอยู่ในสังคม โดย อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ
09.45-10.00 น. รับประทานเครื่องดื่มและอาหารว่าง
การนำเสนอผลงานวิจัย
ดนตรีและเพลง ดำเนินรายการโดย คุณกิตติพร ใจบุญ
10.00-11.00 น. "วัฒนธรรมดนตรี วิถีและการถ่ายทอด"
ผู้นำเสนอผลงาน : คุณกนก คล้ายมุข และคุณพิมพร ชัยจิตร์สกุล
วิทยากรอภิปรายและให้ความเห็น : อาจารย์ อานันท์ นาคคง
11.00-12.00 น. "น้ำคำระคนเพลง คนธรรพ์บรรเลง"
ผู้นำเสนอผลงาน : ผศ.วิชา เชาวศิลป์ และคุณคมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์
วิทยากรอภิปรายและให้ความเห็น : อาจารย์ อานันท์ นาคคง
12.00-12.30 น. อภิปรายทั่วไป
12.30-13.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน
ช่างและสถาปัตยกรรม
ดำเนินรายการโดย คุณอาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม
13.30-15.00 น. "วิถีช่าง วิถีไทย"
ผู้นำเสนอผลงาน : คุณอภินันท์ พงศ์เมธากุล คุณวัชรี วัชรสินธุ์และคุณประพัฒน์ วรทรัพย์
วิทยากรอภิปรายและให้ความเห็น : รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี และอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว
15.00-15.15 น. รับประทานเครื่องดื่มและอาหารว่าง
สังคม
ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ
15.15-16.45 น. "ชุมชน กับการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม"
ผู้นำเสนอผลงาน : คุณสิริพร สมบูรณ์บูรณะ คุณคมพล สุวรรณกูฎ และคุณศิริพร ศรีสินธุ์อุไร
วิทยากรอภิปรายและให้ความเห็น: รศ.ปรานี วงษ์เทศ และอาจารย์โอภาส ปัญญา
16.45-17.15 น. อภิปรายผล การสรุปภาพรวมและพิธิปิด
โดย ประธานอนุกรรมการวิจัยวัฒนธรมภาคกลาง (ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์)
กำหนดการประชุมสัมมนาทางวิชาการกรุงเทพมหานคร
เรื่อง "ศิลป์กับเซ็กส์ (Arts and Sex): กระบวนการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม?"
วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 ณ สถาบันวิทยบริการ ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.00-9.00 น. ลงทะเบียน
9.00-10.15 น. Intro-Dialogue
โดย อ.อภินันท์ โปษยานนท์ และคุณนิวัติ กองเพียร
ดำเนินรายการโดย อ.กฤตยา อาชวนิจกุล
10.15-10.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.30-12.00 น. เสนอผลงานช่วงที่ 1
1. นาฎยศิลป์รัชกาลที่ 9
โดย นายสุรพล วิรุฬรักษ์
2. การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และการต่อต้านของสาวคาราโอเกะ
โดย นางสาวขวัญฤทัย จ่างจำรัส
อภิปรายและให้ความเห็นโดย อาจารย์ยศ สันตสมบัติ
12.00-13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.30 น. เสนอผลงานช่วงที่ 2
3. วัฒนธรรมไทยในวรรณคดี: ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์-เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย ผ.ศ.เฌอมาลย์ ราชภัณฑารักษ์
4. วาทศิลป์และสุนทรียภาพในบทเพลงไทยสากลร่วมสมัยยอดนิยม
โดย นางสาวอภิรดี ภู่ภิรมย์
อภิปรายและให้ความเห็นโดย อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ
14.30-14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.45-16.15 น. เสนอผลงานช่วงที่ 3
5. อัตลักษณ์วัยรุ่นไทยกับการรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น: กรณีฟังเพลงญี่ปุ่นของวัยรุ่น
โดย นางสาววิภารัตน์ พันธุ์ฤทธิ์ดำ
6. การวิเคราะห์คุณลักษณะทางวัฒนธรรมไทยของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาสังกัด ทบวงมหาวิทยาลัย โดยนางสาวภัทริยา งามมุข
อภิปรายและให้ความเห็นโดย อาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์
16.15-17.30 น. "ดู-ดื่ม-เดา: เดินเท้าเสพย์ศิลป์" : ทัวร์ 10 ก้าวชมนิทรรศการศิลปะ
โดย อาจารย์อภินันทร์ โปษยานนท์--จบ--
-นค/สพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ