นายพิศาล สร้างธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่าตามที่ สสวท.ได้ดำเนินการส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศประจำปี พ.ศ.2546 โดยสาขาวิชาฟิสิกส์แข่งขันระหว่างวันที่ 2-11 สิงหาคม 2546 ณ กรุงไทเป ไต้หวันนั้นผลการแข่งขันปรากฎว่าผู้แทนประเทศไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลสร้างชื่อเสียงบนเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติได้เป็นผลสำเร็จจำนวน 1 เหรียญทองและ The Best Experiment 1 เหรียญเงิน และ 3 เกียรติคุณประกาศ โดยรางวัล The Best Experiment เป็นรางวัลที่ให้กับผู้ที่ทำคะแนนข้อสอบภาคปฏิบัติได้สูงสุด ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 5 คนประกอบด้วย
นายธเนศ พฤทธิวรสิน โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กทม. เหรียญทองและThe Best Experiment
นายชยุตม์ ถานะภิรมย์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม. เหรียญเงิน
นายนพดล เมฆอรียะ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กทม. เกียรติคุณประกาศ
นายปวิธ แสงจันทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กทม. เกียรติคุณประกาศ
น.ส.สลิลพร กิตติวัฒนากูล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. เกียรติคุณประกาศ
จากที่ประเทศไทยได้เริ่มส่งผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันประเทศไทยสามารถทำได้ 2 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 5 เหรียญทองแดง และ 17 เกียรติคุณประกาศ โดยครั้งนี้นับเป็นการแข่งขันครั้งที่ 34 ของโลกซึ่งในการแข่งขันความสามารถวิชาฟิสิกส์ระดับโลกนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่ามีความยากในทุกๆ ปี แต่ผู้แทนประเทศไทยก็สามารถนำชัยชนะกลับมาให้ชาวไทยได้ชื่นชมเป็นผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยจากการแข่งขันในปีที่แล้วผู้แทนประเทศไทยคือนายวีรพงศ์ ผดุงศักดิ์อนันต์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม.เป็นเด็กไทยที่พิชิตเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกให้กับประเทศในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการปี พ.ศ.2545 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นผลสำเร็จ และมาในปีนี้ผู้แทนประเทศไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันเดียวกันได้สำเร็จติดๆ กันอีกครั้งนับเป็นการยืนยันศักยภาพของเด็กไทยในระดับโลกได้อย่างชัดเจน
นายธเนศ พฤทธิวรสิน หรือ หงษ์ จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล กทม. คนเก่งเจ้าของ 1 เหรียญทอง และ The Best Experiment กล่าวว่าได้ไปแข่งขันระหว่างประเทศครั้งนี้เป็นความภูมิใจที่ได้ทำอะไรดีๆ เพื่อประเทศชาติอีกครั้ง เคล็ดลับในการเรียนดีนั้นคิดว่าอยู่ที่ผู้เรียนต้องเลือกศึกษาในวิชาที่ชอบและจะทำได้ดีเอง สำหรับตัวเองก็ไม่ได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมอะไรมากมาย เพราะเรียนรู้จากการเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการที่ สสวท.กับการเรียนในโรงเรียน นอกนั้นแบ่งเป็นเวลาพักผ่อน ในส่วนของครอบครัวเป็นหลักสำคัญที่ให้กำลังใจกันมาโดยตลอด ไม่เคยซ้ำเติมเมื่อเวลาทำอะไรผิดพลาด ให้ความอบอุ่นกับลูกอย่างต่อเนื่อง หงษ์วางเป้าหมายในชีวิตว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการแน่นอน เพื่อเป็นนักฟิสิกส์ในอนาคตเพราะชอบฟิสิกส์มาก ขณะเดียวกันก็ชอบดนตรีมาเช่นเดียวกันจึงอยากเป็นนักฟิสิกส์ที่เก่งดนตรีด้วย
ชยุตม์ ถานะภิรมย์ หรือ แชมป์ โรงเรียนสาธิตแห่งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม. เจ้าของ 1 เหรียญเงิน เผยว่าไม่ได้เรียนพิเศษอะไรเพราะการเรียนพิเศษปัจจุบันมักเป็นการกวดวิชาเพื่อสอบ ไม่ใช่เพื่อความรู้ ทั้งยังเป็นการปิดกั้นความคิดและจินตนาการเด็ก เป้าหมายในอนาคตของน้องแชมป์ตั้งใจรับทุนโอลิมปิกวิชาการศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอกต่างประเทศในด้านฟิสิกส์ เพื่อเป็นอาจารย์และนักวิจัยนำความรู้กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
ผู้แทนประเทศไทยที่คว้าชัยชนะจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการปีพ.ศ.2546 ทั้ง 5 คน จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 เวลา 22.55 น. เที่ยวบินที่ TG 635 สสวท.จะมีพิธีต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยชุดดังกล่าว ที่ชั้น 1 อาคารผู้โดยสารขาเข้า (อาคาร 1) สนามบินดอนเมือง จึงขอเชิญสื่อมวลชนและประชาชนชาวไทยร่วมให้การต้อนรับคณะผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกตามกำหนดดังกล่าว
หมายเหตุ : ดาวน์โหลดภาพผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการ พ.ศ.2546 ได้ที่เว็บไซด์สสวท. http://www.ipst.ac.th หน้าจอหลักซ้ายมือ แบนเนอร์ที่ 3 "ภาพผู้แทนฯ โอลิมปิก 2546"--จบ--