กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--I AM PR
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่า พัทลุงเป็นจังหวัดที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุดในภาคใต้ ทำให้คณะทำงานของสมาคมครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดพัทลุง ร่วมกันค้นหาสาเหตุแล้วพบว่าต้นตอที่นำไปสู่ทุกปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนั้นเมืองพัทลุงในปัจจุบันนั้น ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาในครอบครัวแทบทั้งสิ้น
ทั้งนี้เนื่องจากคนพัทลุงส่วนใหญ่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ทิ้งลูกหลานไว้กับปู่ยาตายาย ทำให้เกิดความเหงา ความไม่เข้าใจกันเพราะมีช่องว่างระหว่างวัย เกิดความสับสนในบทบาทของตนเอง เมื่อผนวกกับปัญหาเรื่องของยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ก็ยิ่งทำให้สถาบันครอบครัวชาวพัทลุงสั่นคลอนเพราะขาดความอบอุ่น มั่นคง เข้มแข็ง และยังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
สมาคมครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดพัทลุง ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวพัทลุง จึงได้จัดทำ “โครงการแผนที่คนมีดี” เพื่อค้นหาข้อมูลและสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมเพื่อสานความสัมพันธ์ของคนทุกเพศวัยในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายสมคิด ทองสง นายกสมาคมครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดพัทลุง หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า
โครงการนี้มีจุดเริ่มจากการทำงานวิจัยภายใต้โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ซึ่งในการทำวิจัยมีเครื่องมืออยู่ 7 หัวข้อ อาทิเรื่องของทุกข์คนในชุมขน ภูมิปัญญาการเลี้ยงลูก ความสัมพันธ์ในครอบครัวฯลฯ
“เรามองว่าหัวข้อการการวิจัยที่มีอยู่นั้นยังไม่สมบูรณ์ จึงได้เพิ่มในเรื่องของแผนที่คนมีดีเข้าไปอีกเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งประยุกต์มาจากแผนที่คนดี เพราะบางคนที่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ดีสักเท่าไหร่ แต่เขามีดีมีความรู้หรือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งเรื่องพืชผักสมุนไพร งานหัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีคนมีดีที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการทำงานใน 10 พื้นที่ของจังหวัด และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน” นายสมคิดระบุ
ดังเช่นที่ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีดีในเรื่องของ “สมุนไพร” จึงได้มีการขับเคลื่อนโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาเลือก ให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับตนเองและสมาชิกในครอบครัว
นายสวาท จันทร์แดง อายุ 42 ปี ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทย เล่าให้ฟังว่า จังหวัดพัทลุงมีชื่อเสียงในเรื่องของสมุนไพรมายาวนาน ที่อย่างที่วัดเขาอ้อ ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดชก็เคยเป็นลูกศิษย์ร่ำเรียนวิชาด้านสมุนไพรจากที่วัดแห่งนี้
“เวลามาสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนก็จะสอนให้เขาได้รู้จักสมุนไพรพื้นบ้านในชุมชน หรือสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเขา ทั้งในเรื่องประโยชน์ของสมุนไพรแต่ละชนิด วิธีการนำมาใช้ อย่างฟ้าทะลายโจรก็ใช้เพื่อรักษาอาการไข้หวัดตัวร้อน สาบเสือใช้ห้ามเลือด หากท้องเสียก็ให้ใช้ใบฝรั่ง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆสามารถดูแลตัวเองได้จากสมุนไพรใกล้ตัว รวมถึงนำไปดูแลคนที่บ้านด้วย” นายสวาทกล่าว
น.ส.สุภาภรณ์ สงเกตุ หรือ “น้องน้ำ” นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนปัญญาวุธ ตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน เล่าให้ฟังว่า เลือกเรียนวิชาสมุนไพรพื้นบ้านเป็นวิชาเลือกเสรี เพราะเมื่อก่อนเห็นคุณย่ากินใบพลูบ่อยๆ เคยถามว่ากินทำไม คุณย่าบอกว่าเป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพ
“เมื่อมาเรียนจึงได้รู้ว่าสมุนไพรแต่ละชนิดช่วยรักษาโรคได้ และอยากนำไปปลูกไว้ที่บ้าน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และนำไปใช้บรรเทาโรคได้ เพราะประหยัดและหาได้ง่ายในท้องถิ่น” น้องน้ำกล่าว
ด.ญ.สุวนันท์ นวนทอง นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนปัญญาวุธ อธิบายว่า ตอนเด็กได้เห็นคุณยายก็กินยาสมุนไพร โดยทำใช้เองตั้งแต่เก็บจากต้น ตากแห้งแล้วนำไปต้มน้ำดื่ม
“ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นสมุนไพรรักษาโรคอะไร แต่คุณยายบอกว่าผักที่รับประทานทุกวัน เช่น ใบกะเพรา ใบโหระพา ก็เป็นสมุนไพรให้กินเยอะๆ และเมื่อมาเรียนรู้เรื่องสมุนไพรก็ยิ่งเพิ่มพูนความรู้ว่า ผักที่กินในแต่ละวันมีสรรพคุณและมีประโยชน์อะไรบ้างต่อสุขภาพของเรา” น้องสุวนันท์กล่าว
นอกจากที่ตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน ที่ใช้องค์ความรู้ด้านสมุนไพรไปขับเคลื่อนโครงการครอบครัวเข้มแข็งร่วมกับชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่แล้วที่ บ้านนกรำ ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา ซึ่งมีดีที่ไม่เหมือนใครในเรื่องของ “อาหารพื้นบ้าน” จากการทำงานร่วมกับโครงการแผนที่คนมีดี ชาวบ้านนกรำยังได้ขยายผลไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ เมื่อทุกคนต่างร่วมกันกำหนดข้อตกลงและช่วยกันดูแลให้ “น้ำตกนกรำ” ซึ่งเป็นน้ำตกในพื้นที่ของชุมชนเป็น “น้ำตกปลอดเหล้า”
นายมานะนที สียานเก็ม อายุ 52 ปีแกนนำชาวบ้าน บอกว่าชุมชนบ้านนกรำเป็นชุมชนชาวมุสลิมที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องของอาหารพื้นถิ่นที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และหากินที่ไหนไม่ได้ในจังหวัดพัทลุง อาทิ แกงบอนยายวัด, แกงน้ำเคยลูกประ, น้ำพริกลูกประ, แกงส้มปลาหวดลูกหวายห้วยฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่ใช้วัตถุดิบ พืช ผัก และสมุนไพรจากในป่าเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นแหล่งต้นของน้ำตกนกรำ
“เมื่อมีคนมาศึกษาดูงานเรื่องอาหารพื้นบ้าน เราจึงคิดกิจกรรมให้เชื่อมโยงไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยจัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ เพราะจุดนี้เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินเท้าเชื่อมระหว่างเมืองตรังกับพัทลุง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังสร้างให้ทุกคนเกิดจิตสำนึกหวงแหนช่วยกันดูแลป่าซึ่งเป็นซูเปอร์มาเก็ตของทุกคนในชุมชน” นายมานะนทีกล่าว
“ครอบครัวจะเข้มแข็งได้ ร่างกายต้องดี จิตใจต้องดี ปัญญาต้องดี มีการดูแลซึ่งกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้าน ถ้าเด็กๆ รู้เรื่องสมุนไพร และรู้ว่านอกจากจะเป็นยาแล้วก็ยังเป็นผักพื้นบ้าน ถ้าเรากินผักก็เท่ากับว่าเราได้กินยาไปด้วย เด็กก็จะมีสุขภาพที่ดีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพึ่งหมอ นอกจากนี้เมื่อเด็กๆ ได้รับความรู้ก็สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้ ยกตัวอย่างเช่น เรามีครูภูมิปัญญาด้านการนวดบีบเส้น มาสอนและให้ความรู้กับเด็กๆ เด็กก็จะกลับไปบีบนวดให้กับคนแก่ คนแก่ก็จะใช้เวลานี้เล่าเรื่องราวเก่าๆ สิ่งดีๆ ในชุมชนให้เด็กได้ฟัง เมื่อทั้งสองวัยได้มาเจอกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความเข้มแข็ง ความรักความอบอุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุมชนด้วย” นายสมคิดกล่าวสรุป.