กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
จากสถิติของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พบว่าประชากรในชุมชนเมืองเทศบาลสระแก้ว เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากผลกระทบด้านสภาวะสิ่งแวดล้อมและการดำเนินวิถีชีวิตแบบชุมชนเมือง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร สูดดมสัมผัสมลภาวะจากอากาศ ขยะ และน้ำเสียจากชุมชน รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน
การขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้ปริมาณการอุปโภคบริโภคเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาขยะล้นเมืองจนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แม้เทศบาลเมืองสระแก้วจะพยายามบริหารจัดการและกำจัดขยะ ด้วยการสร้างเตาเผาที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถรองรับกับปริมาณขยะอันมหาศาลได้ทัน
เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติสระแก้ว จึงร่วมกับ เทศบาลเมืองสระแก้ว และเครือข่ายผู้สูงอายุดอกแก้ว จัดทำโครงการ “พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพชุมชนเมือง จังหวัดสระแก้ว”เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนในชุมชนตระหนักและมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดูแลท้องถิ่นของตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นจากการนำขยะไร้ค่ามาแปรเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้พัฒนาพลังงานทางเลือกที่เหมาะสำหรับชุมชน และต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้การพึ่งพาตนเองให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวขวัญฤดี พรหมทองดี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ชุมชนเมืองสระแก้วมีปัญหาไม่ต่างจากกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดหัวเมืองอื่นๆ นั่นคือ ปัญหาขยะล้นเมือง ทั้งเศษอาหาร น้ำมันเก่าจากครัวเรือน ซากพืชซากสัตว์จากตลาดสด เมื่อขยะเหล่านี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ก็เกิดปัญหาต่อเนื่องคือน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและเชื้อโรคอีกสารพัดชนิด การที่เทศบาลฯ ได้พยายามกำจัดขยะและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยคัดแยกประเภทขยะก่อนนำไปรีไซเคิลและเผาทำลาย ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และแท้จริงแล้วทุกคนในชุมชนควรมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้น
“ศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติสระแก้วได้มุ่งสนับสนุนองค์ความรู้และผลักดันให้ชุมชนเมืองสามารถสร้างพลังงานใช้เองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ขยะจากเศษอาหาร มูลสัตว์ต่างๆ และเศษกิ่งไม้ เป็นต้น เพราะในยุคที่ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่รายได้เท่าเดิม การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยการหันมาพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ถือเป็นทางรอดที่ควรเลือกเดิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ อย่างน้อยในแต่ละวัน ทุกครัวเรือนต้องหุงข้าว ต้มน้ำ ทำอาหาร หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ ค่าครองชีพก็จะลดลง มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามที่จำเป็น” นางสาวขวัญฤดีกล่าว
ด้าน นายกฤษณะ ของนา เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองสระแก้ว อธิบายว่า เทศบาลเมืองสระแก้วประกอบด้วย 18 ชุมชนย่อย เป็นลักษณะชุมชนที่ผสมผสานระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบทเข้าไว้ด้วยกัน โดยประชาชนในชุมชนชนบทจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ในขณะที่ชุมชนเมืองประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชนจึงมีความแตกต่างกัน
“ทุกชุมชนสามารถร่วมกันออกแบบและคิดค้นพลังงานทางเลือกได้ด้วยตนเอง โดยใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นตัวกำหนด เช่น ชุมชนที่เป็นตลาดมีการค้าขายก็จะมีขยะจากเศษอาหารเหมาะสำหรับทำ แก๊สชีวภาพ เช่นเดียวกับชุมชนเกษตรกรรมที่มีขี้หมูและขี้วัว ส่วนชุมชนที่มีป่าซึ่งจะต้องตัดแต่งกิ่งไม้อยู่เสมอ ก็สามารถนำเศษกิ่งไม้ไปเผาเป็น ถ่าน ได้ แต่อย่างไรก็ตามการสร้างพลังงานใช้เองจะต้องไม่สร้างมลภาวะให้แก่ชุมชน หรือเกิดเป็นขยะชิ้นใหม่ที่ต้องตามกำจัดไม่จบสิ้น และเมื่อชุมชนเมืองมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น สถิติการเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยให้เทศบาลฯ ได้ใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านอื่นแทนที่จะหมดไปกับการซ่อมแซมสุขภาพ” นายกฤษณะกล่าว
บ้านคลองนางชิง ตำบลท่าเกษม อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เป็นชุมชนแรกที่ยกมือสนับสนุนการสร้างพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับชุมชนของตนเองทั้ง “ก๊าซชีวภาพ” หรือ “แก๊สขี้หมู” และ “ถ่าน” ที่เผาด้วยเตาสุญญากาศ หรือ “เตาอิวาเตะ” ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่และต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ
นายสงัด อาจตัน วัย 56 ปี สมาชิกบ้านคลองนางชิง เล่าว่า ครอบครัวทำเกษตรแบบผสมผสาน เศษผักผลไม้และเศษอาหารก็เอาไปเลี้ยงหมู ซึ่งขี้หมูจะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อรดพืชผักต่อไป แต่เมื่อรู้ว่า ขี้หมู สามารถนำไปทำพลังงานได้ ก็ไม่รีรอที่จะทดลอง ด้วยเห็นว่าการพึ่งพาตนเองได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“ก๊าซชีวภาพหรือพลังงานขี้หมู ใครๆ ก็ทำใช้เองได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความขยันเป็นที่ตั้ง เพราะจะต้องล้างคอกหมูทุกเช้า ใช้น้ำล้างน้อยๆ เน้นแรงกวาดมากๆ ให้น้ำขี้หมูไหลลงไปรวมกันในบ่อ แล้วจึงตักใส่ถังหมักพลาสติกขนาด 250 ลิตรที่เชื่อมต่อกันจำนวน 4 ถัง น้ำขี้หมูจะถูกหมักในถังจนเน่าและเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้หุงต้มได้ทันที โดยก๊าซที่นำมาใช้งานจะไร้สีไร้กลิ่นและใช้ได้นานติดต่อกัน 3 ชั่วโมง หากก๊าซเริ่มอ่อนก็ตักขี้หมูเติมลงไปในถังหมัก รอไม่นานเท่าไรก็จะมีก๊าซเกิดขึ้นมาใหม่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ใครอยากใช้ก็เพียงช่วยตักขี้หมูใส่ถังหมักแล้วต่อท่อเอาก๊าซไปได้เลย” นายสงัดบอก
ด้าน นายลุงสัมฤทธิ์ อาจตัน วัย 62 ปี อธิบายต่อว่า นอกจากก๊าซชีวภาพจากขี้หมู ในชุมชนบ้านคลองนางชิงยังสร้างเตาเผาถ่านใช้เองด้วย โดยใช้เศษกิ่งไม้จากป่าชุมชนที่มีอยู่มากมาย“เมื่อสมาชิกในชุมชนเข้าไปเก็บของป่า ก็จะช่วยกันเก็บเศษไม้และตัดแต่งกิ่งไม้แล้วขนออกมาเผาเป็นถ่าน ป้องกันไม่ให้ป่ารกร้าง ลดการเกิดไฟไหม้ป่าและการลอบตัดไม้ ซึ่งถ่านที่เผาได้หรือแม้แต่ก๊าซชีวภาพคือสิ่งตอบแทนจากการที่ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนไม่ให้เสื่อมโทรม เพียงร่วมกันดูแลก็มีสิทธิ์ร่วมใช้ แล้วความรักและหวงแหนท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องร้องขอ”
“ก๊าซชีวภาพ และถ่านจากเศษไม้ เป็นพลังงานทางเลือกที่ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือนได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้อย่างน้อยครอบครัวละ 300 บาท อีกทั้งยังช่วยลดประมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมแต่ประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นคือกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ทั้งการคิดและช่วยทำของทุกคนชุมชน กลายเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนเคารพในความคิดความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในชุมชน จนกลายเป็นต้นแบบที่ชุมชนอื่นสามารถเรียนรู้ได้ทั้งระบบ” นางสาวขวัญฤดี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสรุป