กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมุ่งสร้างมากกว่าซ่อมสุขภาพ ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันพบว่า “พระสงฆ์” เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพค่อนข้างน้อย โดยจะเข้ารับบริการสาธารณสุขต่อเมื่อเกิดการเจ็บป่วยรุนแรงและแสดงอาการของโรคแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นเท่านั้น ทำให้ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่
อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีวัดมากถึง 69 แห่ง ในอดีตมีพระสงฆ์อาพาธและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโพธารามจำนวนหลายรูป ถึงขั้นต้องจัดสร้างอาคารขนาด 25- 30 เตียง เพื่อรองรับพระสงฆ์ที่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัว ทำให้แพทย์และพยาบาลไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงเท่าที่ควร
เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ โรงพยาบาลโพธาราม จึงได้ร่วมกับ เจ้าคณะตำบลโพธาราม จังหวัดราชบุรี จัดทำโครงการ ““โรงพยาบาล-วัด เครือข่ายสานสัมพันธ์สร้างสุขภาพที่ดีสู่ชุมชน” ขึ้นในปี 2553 โดยมุ่งเน้นให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัดต่างๆ ในอำเภอโพธาราม ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สามารถดูแลตนเองได้ในยามที่เจ็บป่วย สามารถสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวังโรคในหมู่พระสงฆ์ได้ รวมถึงช่วยให้คำแนะนำแก่ฆราวาสเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพตามหลักสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางโฉมยง เหลาโชติ หัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลโพธาราม หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า สถิติการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ในพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหอผู้ป่วยสามารถรองรับได้เพียง 30 เตียง มีพระสงฆ์นอนพักรักษาเต็มตลอดเวลา โรคที่พบส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด มะเร็ง ไขข้อ กระดูก และโรคหัวใจเป็นต้น แต่พระสงฆ์มักคิดว่าตนเองไม่ได้เจ็บป่วย เนื่องจากยังไม่ปรากฏอาการของโรค และแพทย์จะพบโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว ทางโรงพยาบาลฯ จึงมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มพระสงฆ์ ตั้งแต่ปี 2548 โดยจัดบุคลากรออกตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคเชิงรุก ให้ความรู้ด้านสุขภาพและส่งตัวไปรักษาต่อกับแพทย์เมื่อตรวจพบโรค
“อำเภอโพธารามมีพระสงฆ์จำพรรษาประมาณ 500 รูป กว่าครึ่งหนึ่งนิยมสูบบุหรี่ ในขณะที่ร้อยละ 30 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาคือเบาหวาน จากการมุ่งสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาพระสงฆ์มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองดีขึ้น มีการลดละการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ที่ญาติโยมนิยมนำมาถวาย จนกระทั่งในปี 2552 พบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลของพระสงฆ์ลดลงในระดับหนึ่ง ดังนั้นโครงการโรงพยาบาล-วัด เครือข่ายสานสัมพันธ์สร้างสุขภาพที่ดีสู่ชุมชน จึงเป็นการดำเนินงานต่อยอดที่สำคัญ ที่จะทำเพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มพระสงค์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จนเกิดแรงขับในการดูแลรักษาสุขภาพจากภายใน แผ่ขยายไปสู่ชุมชนรอบข้างโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการดูแลและถ่ายทอดความรู้” นางโฉมยงกล่าว
โครงการโรงพยาบาล-วัด เครือข่ายสานสัมพันธ์สร้างสุขภาพที่ดีสู่ชุมชน มุ่งเน้นการให้ความรู้เรื่องการเฝ้าระวังโรคเบื้องต้นด้วยการวิธีการต่างๆ แก่อาสาสมัครพระสงฆ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในพื้นที่ โดยจะต้องเป็นพระสงฆ์ที่จำพรรษาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และมีแนวโน้มว่าจะไม่ลาสิกขาบท รวมถึงมีพื้นฐานเรื่องการดูแลสุขภาพและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคต่างๆ หลังจากนั้นโรงพยาบาลโพธารามจะจัดอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคต่างๆ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูลสุขภาพ
นางโฉมยงอธิบายเพิ่มเติมว่า “อาสาสมัครพระสงฆ์หรือ อสม.พระ ที่เข้าอบรมต้องทำแบบทดสอบความรู้เรื่องโรคต่างๆ เช่น อาการกำเริบของโรคความดันโลหิตสูงเป็นอย่างไร หลังจากนั้นผู้อบรมจึงจะให้ความรู้ที่ถูกต้องให้แทน ถัดมาคือการอบรมเรื่องสรีระของร่างกาย ฝึกปฏิบัติการวัดความดันด้วยเครื่องวัดแบบดิจิทัล การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงและรอบเอวเพื่อนำไปคิดค่ามวลกาย การทำแผลเบื้องต้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินและการช่วยฟื้นคืนชีพด้วย”
เมื่ออาสาสมัครพระสงฆ์ได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาและป้องกันโรครวมถึงเหตุฉุกเฉินอย่างละเอียดแล้ว ก็จะสามารถนำไปดูแลกลุ่มพระสงฆ์ในวัดของตนเองได้ โดยโรงพยาบาลจะให้การสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ เครื่องวัดความดันดิจิทัลและเครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือด เป็นการป้องกันโรคเชิงรุกที่ช่วยให้พระสงฆ์ที่เจ็บป่วยรู้เท่าทันการกำเริบของโรคและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
พระครูโพธารามพิทักษ์ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์และเจ้าคณะอำเภอโพธาราม ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำนโยบายเรื่องการฝึกอบรมอาสาสมัครพระสงฆ์ที่ทุกวัดต้องปฏิบัติตาม ด้วยเล็งเห็นว่าหากพระสงฆ์มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค ก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ต้องเจ็บป่วยจนกลายเป็นภาระของสังคม
“พระสงฆ์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของสังคมไทย ในการเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวจิตใจ หากพระเจ็บป่วยแล้วใครจะเป็นที่พึ่งของญาติโยม ดังนั้นพระจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ทั้งการเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาและการเป็นผู้ชี้นำเรื่องสุขภาพด้วย พระสงฆ์ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป่ามนต์รักษาโรคได้ แต่ความรู้เรื่องโรคที่พระสงฆ์สั่งสอน จะช่วยให้ญาติโยมมีพลานามัยแข็งแรงได้” พระครูโพธารามพิทักษ์ระบุ
ทางด้าน พระนินนาท เชียงวงศ์ อาสาสมัครพระสงฆ์วัดโบสถ์กล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากการอบรม นอกจากจะนำไปช่วยเหลือดูแลพระในวัดแล้ว ก็จะสอดแทรกไว้ในการแสดงพระธรรมเทศนาในช่วงวันพระและวันสำคัญต่างๆ ที่ชาวบ้านในชุมชนจะมาร่วมทำบุญกันที่วัด เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว เช่น เมนูอาหารที่จะนำมาถวายก็ให้เน้นเมนูสุขภาพแทนที่จะเป็นเมนูราคาแพง อย่างอาหารทะเล แกงกะทิ ขาหมู ขนมหวาน หรือแม้แต่บุหรี่ก็ตาม เพราะพระสงฆ์ไม่ได้ออกกำลังกายมากนัก จึงต้องระมัดระวังเรื่องอาหารเป็นสำคัญ
“หากพระมีความรู้จริงเกี่ยวกับตัวปัญหาที่ทำให้เกิดโรค เมื่อถ่ายทอดต่อให้แก่ญาติโยมเขาก็จะมีความเชื่อถือและนำไปปฏิบัติตาม เมื่อเขาสุขภาพกายและใจดี ก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ชุมชนก็เป็นสุข ซึ่งการที่วัดสอนคนด้วยความรู้ที่ถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นที่พึ่งทางกายและทางใจอย่างแท้จริง” พระนินนาทกล่าว
ปัจจุบันจากการที่พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ ทำให้โรงพยาบาลโพธารามมีจำนวนผู้ป่วยพระสงฆ์ที่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเหลือเพียง 3 รูป นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพสู่ชุมชนโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางที่สามารถสร้างความเชื่อถือและเคารพศรัทธา พัฒนาให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชนเกิดความยั่งยืน