กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
“ลิเกฮูลู” หรือ “ดิเกฮูลู” เป็นศิลปะการละเล่นพื้นบ้านของชาวมุสลิม แต่เดิมนิยมแสดงในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน พิธีเข้าสุนัต งานฮารีรายอ และแสดงแก้บน เพื่อขอพรจากพระอัลเลาะห์ ปัจจุบันลิเกฮูลูได้แสดงร่วมกับมหรสพอื่นๆ ในงานเทศกาลสำคัญ โดยเนื้อหาและการแสดงมักเอ่ยถึงวิถีชีวิตของชุมชน การประกอบอาชีพ การแก้ปัญหาต่างๆ ฯลฯ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เล่นและผู้รับชม
ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน การละเล่นลิเกฮูลูได้เลือนหายไปจากท้องถิ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากสมาชิมีภาระหน้าที่ในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันลิเกฮูลูได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นอีกครั้ง โดย กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประจำตำบลโมคลาน ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโมคลาน จัดทำโครงการ “ลิเกฮูลูสู่สุขภาวะ” ขึ้น ในรูปของการละเล่นเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางกายและทางใจ เพื่อลดปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน และช่วยอนุรักษ์สืบทอดศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของท้องถิ่น ให้เป็นสมบัติแก่ลูกหลานรุ่นต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางเสาวณิตย์ โยธาจักร หัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลโมคลาน เป็นชาวไทยมุสลิมร้อยละ 80 แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ลิเกฮูลูซึ่งเป็นศิลปะประจำถิ่นภาคใต้กลับเป็นเพียงการละเล่นพื้นบ้านที่คนในชุมชนรู้จักแค่ชื่อแต่ไม่เคยได้ยินหรือได้ชมสักครั้ง จนกระทั่งปี 2547 มีเยาวชนในท้องถิ่น ได้ชมลิเกฮูลูในงานมัสยิดที่อำเภอปากพนัง แล้วเกิดแรงบันดาลใจรื้อฟื้นการละเล่นลิเกฮูลูด้วยการไปเรียนรู้และฝึกฝนจากศิลปิน แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น สร้างความสนุกสนานให้แก่เด็กๆ ผู้เล่นและผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก “กลุ่มอสม.” และ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำรพ.สต.โมคลาน” จึงเกิดแนวความคิดร่วมกันว่า ควรนำท่าทางในการละเล่นลิเกฮูลูมาประยุกต์เป็นท่าออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ประชาชนในตำบล
“จากการเก็บข้อมูลสุขภาพของอสม.พบว่า ประชากรในตำบลโมคลานมีปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชาวไทยมุสลิม เนื่องจากลักษณะการดำเนินชีวิตมักอยู่แต่ในบ้าน ขาดการออกกำลังกาย ห่างเหินจากการร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับผู้อื่น เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค เพราะต้องระมัดระวังการแสดงกิริยาท่าทางที่อาจไม่เหมาะสม แต่ท่าทางการแสดงลิเกฮูลู มีลักษณะเป็นการนั่งล้อมวง ร้องรับและตบมือโยกตัวไปตามจังหวะดนตรีที่ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป การปรับท่าแสดงลิเกให้เป็นท่าออกกำลังกาย จึงช่วยเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ได้ร่วมกันออกกำลังกายโดยไม่ผิดกฎระเบียบใดๆ และช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมดีขึ้นด้วย” นางเสาวณิตย์อธิบาย
ด้าน นายมนต์ชัย มีแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโมคลาน เปิดเผยว่า ภาวะความเจ็บป่วยของประชากรมีทั้งโรคเรื้อรัง โรคจิต อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคกระดูกและข้อเข่า ฯลฯ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ผู้ชายจึงต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกบ้าน ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีการใช้สารกระตุ้นจนเกิดปัญหาสุขภาพ ส่วนผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้านเพื่อดูแลบุตรหลานเท่านั้น ซึ่งการออกกำลังกายคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานโรค เพศหญิงจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าเพศชาย แต่เมื่อนำลิเกฮูลูมาเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาพให้คนในตำบล โดยกลุ่มอสม. ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมจะแสดงลิเกฮูลูด้วยท่าออกกำลังกายให้ผู้ที่มาใช้บริการที่รพ.สต.ได้ชมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พบว่าผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมแสดงและนำไปฝึกฝนต่อที่บ้าน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก
“กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ฝึกซ้อมท่าทางประกอบเพลงลิเกฮูลู ต่างชื่นชอบการทำกิจกรรม และฝึกซ้อมต่อเนื่องสัปดาห์ละ 5 ครั้ง พบว่ารอบเอว น้ำหนักตัว และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รวมทั้งระดับความดันโลหิตลดลง เนื่องจากท่าทางประกอบบทเพลงช่วยให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงต้นขาขึ้นไปจนถึงคอเกิดการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ และการร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อยๆ ยังสร้างรอยยิ้ม สร้างความมีชีวิตชีวา สร้างสุขภาพร่างกายสุขภาพจิตที่ดีให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้” นายมนต์ชัยกล่าว
ท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์จากท่าประกอบลิเกฮูลู ถูกออกแบบให้มีความสวยงามทั้งลีลาและการเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย แม้จะอยู่ในลักษณะท่านั่งบนพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้ จึงช่วยให้ชาวไทยพุธและมุสลิมสามารถออกกำลังกายร่วมกันได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาและลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวได้
นางสาวสายฝน ดาราไกร อสม.ประจำหมู่บ้านโมคลาน แนะนำการออกกำลังกายด้วยลิเกฮูลูว่า ควรเริ่มต้นด้วยการโหมโรงเพื่ออบอุ่นร่างกายประมาณ 5 นาที จึงเข้าช่วงการละเล่นต่อประมาณ 20-30 นาที และต้องผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีก 5 นาทีก่อนจบการออกกำลังกาย เพื่อลดอาการบาดเจ็บ ซึ่งท่าออกกำลังกายจะทำให้อวัยวะตั้งแต่ต้นขา สะโพก เอว ไหล่ แขน ข้อต่อ เส้นเอ็น ไปจนถึงช่วงคอ ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ
“หญิงชาวมุสลิมมักไม่ค่อยได้ออกกำลังกายร่วมกับคนอื่น เพราะไม่สามารถยกขาหรือแสดงท่าทางคล้ายอาการรื่นเริงหรือบันเทิงได้ เมื่อรู้ว่าลิเกฮูลูสามารถปรับเปลี่ยนเป็นท่าออกกำลังกายได้ ก็เกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านเพื่อออกกำลังกาย และรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น ความเครียดลดลง นอนหลับสบาย และเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับลูกหลานและผู้สูงอายุได้อย่างสนุกสนานภายในบ้านของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มากและไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ใดๆ รวมถึงไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเหมือนการเต้นแอโรบิค” นางสาวสายฝนอธิบาย
ด้าน นางกัญญา จาทอง อสม.ประจำหมู่บ้านโมคลาน ซึ่งเป็นชาวไทยพุทธ ที่ได้ร่วมออกกำลังกายด้วยลิเกฮูลูร่วมกับเพื่อนชาวมุสลิม เปิดเผยว่า การได้ออกกำลังกายร่วมกัน ทำให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสามัคคีของคนในชุมชนดีขึ้น เพราะเมื่อได้พบปะพูดคุยกัน ทำให้กล้าพูด กล้าแสดงออก เกิดการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันก็ได้ปรับความเข้าใจในเรื่องต่างๆ การทำงานและการอาศัยอยู่ร่วมกันจึงมีความราบรื่นยิ่งขึ้น โดยไม่รู้สึกแปลกแยกแม้จะนับถือศาสนาแตกต่างกัน
ปัจจุบันการละเล่นลิเกฮูลูแห่งตำบลโมคลาน แพร่หลายทั้งในกลุ่มเด็ก วัยกลางคน และผู้สูงอายุ โดยในโรงเรียนและมัสยิด ได้ประยุกต์ในระบบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้สืบทอดศิลปะการละเล่นพื้นบ้านประจำถิ่นของตนเอง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปได้นำไปใช้เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกับคนในครอบครัวและชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สุขภาพกายและใจของชาวตำบลโมลคลานแข็งแรงสมบูรณ์ และยังช่วยให้สร้างสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ผู้ชมอีกด้วย.