กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
โกลบอล สตีล ดัสท์ ทุ่ม 1,050 ล้านบาทเดินหน้าตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กเพื่อโลกสวย แห่งแรกในไทยลุยเต็มสูบด้วยนวัตกรรมสกัดสังกะสีจากฝุ่นเหล็กสุดล้ำโครงการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของบีโอไอ
บริษัท โกลบอล สตีล ดัสท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของบริษัท โกลบอล สตีล ดัสท์ จำกัด (จีเอสดี) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการรีไซเคิลสังกะสีจาก “ฝุ่นแดง” หรือฝุ่นเหล็กที่เกิดจากเตาหลอมไฟฟ้า (Electronic Arc Furnaces: EAF) ประกาศจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กแห่งแรกในไทย ขึ้นในเขตพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ลุยเต็มสูบด้วยสมรรถนะในการรีไซเคิลฝุ่นเหล็กสูงถึงปีละ 110,000 ตัน และกำลัง การผลิต “เวลซ์ ซิงค์ ออกไซด์” (Waelz Zinc Oxide) สูงถึงปีละ 40,000 ตัน
โรงงานผลิตเหล็กที่ใช้เตาหลอมไฟฟ้า EAF ผลิตเหล็กกล้าโดยการรีไซเคิลเศษเหล็ก ซึ่งในระหว่างกระบวนการ รีไซเคิลจะก่อให้เกิดฝุ่นเหล็ก ซึ่งจัดเป็นกากของเสียอันตราย แต่ยังคงอุดมด้วยสังกะสีและโลหะเหล็กที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปริมาณฝุ่นเหล็กที่เกิดจากเตาหลอมไฟฟ้า EAF มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของปริมาณเหล็กกล้าที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้ออกกฎหมายที่จัดให้ฝุ่นเหล็กเป็นของเสียอันตราย ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าเกือบทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในไทยใช้กระบวนการผลิตด้วยเตาหลอมไฟฟ้า หรือ EAF (Electric Arc Furnace)
โกลบอล สตีล ดัสท์ ได้เตรียมการในหลากหลายด้านเพื่อจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กแห่งใหม่ในไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างโรงถลุงเหล็กกล้า ผู้ให้บริการต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จีเอสดี ประเทศไทยได้ดำเนินการขออนุมัติเพื่อให้การดำเนินงานของโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายของไทยในทุกด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเงิน และความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์
ในปี 2553 โรงงานผลิตเหล็กกล้าที่ใช้เตาหลอมไฟฟ้า EAF ในประเทศไทย ได้ผลิตเหล็กกล้ารวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นเหล็กในปริมาณราว 90,000 ตัน โดยในปัจจุบัน โรงงานผลิตเหล็กในไทยต่างใช้วิธีกำจัดของเสียซึ่งก็คือฝุ่นเหล็กเหล่านี้โดยวิธีการฝังกลบ หรือนำไปถมที่ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณสารอันตรายในฝุ่นเหล็กลงแต่อย่างใด ดังนั้น เป้าหมายของจีเอสดีจึงมุ่งที่การ “รีไซเคิล” โดยสกัดสังกะสีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจออกจากฝุ่นเหล็ก เพื่อนำไปจำหน่ายภายในประเทศ หรือส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป
มร. รัสส์ โรบินสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล สตีล ดัสท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจสกัดโลหะและรีไซเคิลฝุ่นเหล็กกำลังเป็นที่จับตามอง และความต้องการของตลาดก็กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย สำหรับโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กของจีเอสดีถือเป็น
การลงทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยและชุมชนแวดล้อม โดยก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการช่วยดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สดใสรื่นรมย์ต่อไป”
ปัจจุบัน บริษัท โกลบอล สตีล ดัสท์ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยองเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่า การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นภายในปี 2554 นี้ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ มร. รัสส์ ได้กล่าวถึงโรงงานแห่งใหม่นี้ว่า “ได้รับการออกแบบให้สามารถขยายสมรรถนะการรีไซเคิลฝุ่นเหล็กเพิ่มขึ้นได้เป็น 2 เท่า เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในไทย และก้าวสู่เป้าหมายทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าฝุ่นเหล็กจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลในไทย”
นอกจากนี้ จีเอสดียังได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กในเมืองดัมมัม-จูเบล ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1/2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
จีเอสดีมีแผนจัดตั้งหรือร่วมลงทุนในโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กอีกหลากหลายแห่งทั่วโลก โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเวลซ์ คิล์น (Waelz Kiln) ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่า เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในการรีไซเคิลฝุ่นเหล็กที่เกิดจากเตาหลอมอไฟฟ้า EAF นอกจากนี้ นวัตกรรมเวลซ์ คิล์น ของจีเอสดียังได้รับการรับรองจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US Environmental Protection Agency: EPA) ในฐานะเป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ณ ปัจจุบัน (Best Demonstrated Available Technology” ขณะที่สหภาพยุโรปได้ระบุให้เทคโนโยลีเวลซ์ คิล์น เป็นวิธีการกำจัดฝุ่นเหล็กที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ (Best Available Technique) ทั้งนี้ ฝุ่นเหล็กจากเตาหลอมไฟฟ้า EAF กว่าร้อยละ 80 จากทั่วโลก ได้ถูกนำมารีไซเคิลโดยใช้นวัตกรรมเวลซ์ คิล์น
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ 02-252-9871