กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กบข.
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. สมาคมนักประชาสัมพันธ์ แห่งประเทศไทย (สปสท.) ประกาศผลการตัดสินรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงินให้แก่องค์กร โครงการ และบุคคลที่มีผลงานด้านประชาสัมพันธ์ดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการประชาสัมพันธ์ ปี 2546 จำนวน 6 รางวัล อันได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โครงการฝาแบรนด์สร้างขาเทียมเฉลิมพระเกียรติ นายจักรภพ เพ็ญแข พิธีกรชื่อดัง และ พ.ต.ต. ยงยุทธ สาระสมบัติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยพิธีมอบรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. นี้ เวลา 14.00 ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์และมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน.
(ที่มา:หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2546.)
เรื่องน่ารู้จาก กบข.
สิทธิประโยชน์ที่สมาชิก กบข. ได้รับเมื่อออกจากราชการ
เมื่อสมาชิก กบข. ออกจากราชการ จะได้รับเงินจาก กบข. และได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากภาครัฐ ตามสิทธิดังนี้
กรณีสมาชิกที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 จะได้รับเงินตามสิทธิ คือ
กรณีสมาชิกมีสิทธิและเลือกรับบำนาญ
เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว เงินที่ได้รับจาก ภาครัฐ คือ เงินบำนาญ ซึ่ง ท่านสามารถรับและทดลองคำนวณเงินได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
กรณีสมาชิกมีสิทธิรับบำเหน็จหรือไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ
เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว เงินที่ได้รับจาก ภาครัฐ คือ เงินบำเหน็จ (กรณีมีสิทธิรับบำเหน็จ) ซึ่งท่านสามารถรับและทดลอง คำนวณเงินได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
กรณีสมาชิกที่รับราชการภายหลังวันที่ 27 มี.ค. 2540 จะได้รับเงินตามสิทธิ คือ
กรณีสมาชิกมีสิทธิและเลือกรับบำนาญ
เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว เงินที่ได้รับจาก ภาครัฐ คือ เงินบำนาญ ซึ่ง ท่านสามารถรับและทดลองคำนวณเงินได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
กรณีสมาชิกมีสิทธิรับบำเหน็จหรือไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ
เงินที่ได้รับจาก กบข. คือ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว เงินที่ได้รับจาก ภาครัฐ คือ เงินบำเหน็จ (กรณีมีสิทธิรับบำเหน็จ) ซึ่งท่านสามารถรับและทดลอง คำนวณเงินได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
สูตรการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญ
สูตรเงินบำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x เวลาราชการ ) / 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
สูตรเงินบำเหน็จ = เงินเดือนสุดท้าย x เวลาราชการ
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
3 เสาหลักเพื่อการเกษียณอายุเป็นสุข
การออมเพื่อการเกษียณอายุใน 2 ระบบที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว แบ่งออกได้เป็น 3 เสาหลัก ( 3 Pillar System ) คือ
เสาหลักที่หนึ่ง เป็นระบบกองทุนที่รัฐจัดขึ้น ได้แก่ กองทุนประกันสังคม แบบนี้เป็น สวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน และประกันการจ่ายเงินขั้นต่ำให้แก่ทุกคน แต่เมื่อประชาชนอายุยืนขึ้นภาระรายจ่ายต่างๆ จึงตกเป็นหน้าที่ของรัฐ และคนทำงานในรุ่นหลัง ๆ ที่ต้องจ่ายเงินภาษีอากรให้ผู้ที่อยู่กองทุน
เสาหลักที่สอง เป็นระบบกองทุนที่รัฐบังคับให้ประชาชนออม ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างต้องจ่ายเงินสะสม เงินสมทบตามอัตราที่กำหนด และผู้เกษียณอายุแต่ละคนจะได้รับเงินจ่ายคืนจากเงินออม และดอกผลเมื่อเกษียณอายุ หรือออกจากราชการ
เสาหลักที่สาม เป็นระบบการออมแบบสมัครใจ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคเอกชนนั่นเอง โดยออมไว้มากบั้นปลายชีวิตก็จะมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการพึ่งพาระบบประกันสังคมขั้นพื้นฐานเพียงแบบเดียว
ปัจจุบันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับระบบบำนาญเป็นอย่างมาก และมีพัฒนาการไปมากมาย แต่หากจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยลักษณะกองทุนที่เหมาะสมและดีที่สุดควรจะเป็นการผสมผสานทั้งสามเสาหลักนี้เข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Multi Pillar System แต่ประเทศไทยก็ต้องดำเนินการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเสาหลักที่หนึ่ง และปรับปรุง กฎระเบียบของเสาหลักที่สาม รวมทั้งต้องจัดทำรูปแบบของเสาหลักที่สองให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของประเทศมากที่สุด เพื่อเสริมสร้างให้ระบบกองทุนการออมเพื่อการเกษียณของไทยแข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลได้วางแนวทางในการปฏิรูประบบไว้สองแนวทาง
แนวทางที่หนึ่ง คือ การขยายระบบบำนาญให้ครอบคลุมประชาชนทุกสาขาอาชีพ
แนวทางที่สอง คือ การที่จะให้รายได้หลังวัยเกษียณมีความเพียงพอในการดำรงชีวิตและอัตราที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละแนวทางต่างมีรายละเอียดอีกไม่น้อย และจะได้กล่าวให้ทราบต่อไป
(ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม 2546. คอลัมน์ Financial Planing โดยคุณอมฤดา สุวรรณจินดา.)
หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :-
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
หรือ email: member@gpf.or.th
หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--
-รก-