กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--โอเค แมส
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร 84 โรงงาน ประกาศเจตนารมณ์เป็นโรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมอาหารทำดีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และด้านการจัดการด้านระบบความปลอดภัยอย่างยั่งยืนอีก 84 โรงงาน รวม 168 โรงงาน ในงาน “84 โรงงานอุตสาหกรรมอาหารทำดี ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้อุตสาหกรรมอาหารไทยสู่หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตและรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เผยปีนี้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นและมีมูลค่าในการลดต้นทุนการผลิตทั้งโครงการรวมถึง 51 ล้านบาท และสามารถลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 2,827 ตันต่อปี
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่าร้อยละ 80 มีความเชื่อมโยงในระดับต้นน้ำและปลายน้ำก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจไทยมายาวนาน อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงประเด็นการกีดกันทางการค้าที่ยังคงเป็นปัญหาแก่ผู้ประกอบการไทย Green Productivity เป็นระบบการจัดการสำคัญที่จะทำให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในด้านต่างๆ ได้อย่างรุดหน้า และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้า และลดต้นทุนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องความสมัครใจของผู้ประกอบการ แต่วันนี้เมื่อทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารจึงควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตระหนักและใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงเร่งดำเนินการให้บริการและช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่างๆให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายหลักอันสำคัญคือการสร้างความมั่นคงแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตในโรงงาน ลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะการใช้น้ำและพลังงาน ลดปริมาณของสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิต การใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ดี เป็นการลดภาระที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานลดลงและเพิ่มผลกำไรให้กับตัวบริษัทเอง ทั้งสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพเชิงแข่งขันในตลาดโลก ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และสร้างความแข่งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม”
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงรายละเอียด การประกาศเจตนารมณ์ในงาน “84 โรงงานอุตสาหกรรมอาหารทำดี ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ” และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการนำระบบ Green Productivity และ Carbon Label ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตในปีงบประมาณ 2554 นี้ว่า เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของสถาบันอาหาร ที่มุ่งหวังจะพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจด้วยการนำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านระบบความปลอดภัยในการผลิตอาหารเข้ามาประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการจัดทำโครงการ กอปรกับปีนี้เป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 จึงได้ร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 168 โรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 84 โรงงาน กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีการนำระบบคุณภาพความปลอดภัยในการผลิตสินค้า ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าอาหารคุณภาพด้วย Supply Chain Management และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีการนำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้บริโภครวมถึงสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือทุกโรงงานในวันนี้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรักษานำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านความปลอดภัยในการผลิตอาหารไปประยุกต์ใช้ และมุ่งมั่นรักษาระบบดังกล่าวให้มีความยั่งยืน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนำไปสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมต่อไป
“โดยในปี 2554 นี้ พบว่าโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่หลักการปฏิบัติเป็นเลิศในการผลิตและการรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน (BestPractice on Green Productivity and Continuous Improving) ซึ่งมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตของโรงงานโดยเฉพาะการใช้น้ำและพลังงาน ลดปริมาณการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตและใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากการดำเนินมาตรการ Green Productivity ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 51 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2,827ตันต่อปี” นายเพ็ชร กล่าว