ไทยพาณิชย์จัดงานสัมมนาประจำปี วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปี 2555 ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และโอกาสธุรกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี หรือ SCB Annual Conference on the Economy (SCB ACE) หัวข้อ Thailand: Moving Forward with the New Government โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นองค์ปาฐกพิเศษ วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2555 และ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมเสวนากับผู้นำจากภาคธุรกิจแนวหน้าของประเทศ เปิดมุมมองสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาคธุรกิจเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคต ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ว่า “เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวนหลายด้านทั้งจากปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งแม้ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะออกมาตรการเยียวยาสถาบันการเงินและอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบ แต่ปัญหาก็ยังลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริง สะท้อนจากการกู้ยืมในระบบที่ยังไม่ฟื้นตัวและกฎระเบียบของสถาบันการเงินที่เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากขึ้น สำหรับปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากได้ลุกลามสู่ประเทศใหญ่ๆ อย่างสเปนและอิตาลี และกระทบต่อภาคการเงินโดยตรง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูง เมื่อรัฐบาลประสบปัญหาต้องปรับโครงสร้างหนี้ จะส่งผลให้ความเสี่ยงของภาคธนาคารเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ยุโรปจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากในการดำเนินมาตรการใดๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิก ทั้งนี้ แม้เยอรมนีอนุมัติเพิ่มอำนาจให้กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินหรือ EFSF ให้เงินกู้ได้เพิ่มขึ้น แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจยุโรปได้ และยังมีปัญหาหนี้สาธารณะรออยู่ข้างหน้า ทำให้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปได้ยากเนื่องจากยังขึ้นกับปัจจัยทางการเมืองว่าจะสามารถร่วมมือกันได้มากน้อยเพียงใด สำหรับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เมื่อการส่งออกไปยังตลาดหลักชะลอตัว ทำให้หันมาส่งออกภายในกลุ่ม และพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ซึ่งภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคผันผวน นอกจากนี้ หากธนาคารในยุโรปซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ประสบปัญหา ก็จะส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่ขาดแหล่งเงินทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่ได้” ดร. สุทธาภากล่าวต่อไปเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า “การชะลอตัวของยุโรปและสหรัฐฯ ไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากนักเนื่องจากเรามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของภาคการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง โดยไทยมีการกู้ยืมจากธนาคารของยุโรปไม่มากนัก ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำราว 42% ของ GDP ทำให้ภาครัฐยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมาชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มแผ่วลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกมีจำกัดเนื่องจากไทยมีการกระจายตลาดส่งออกไปภูมิภาคอื่นมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ยางพารา รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะอาหาร ได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น มีต้นทุน การผลิตต่ำกว่า และอำนาจต่อรองของไทยในตลาดโลกมีอยู่มาก สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และค่าเงินยังคงมีค่อนข้างมาก จากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งยังมีความเสี่ยงหากปัญหารุนแรงขึ้น ก็อาจเห็นการถอนการลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่กลับไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงผันผวน สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2012 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 4% โดยพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน แต่ทิศทางราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะปรับขึ้นมากแล้วน่าจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับขึ้นมากด้วยเช่นกัน โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นความผันผวนจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ไปได้จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังแข็งแกร่ง” ดร. สุทธาภากล่าวสรุป ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะให้งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจในปี 2555 และตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนไปได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายที่จะจัดสัมมนา “SCB ACE” เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อลูกค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ