กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ทีดีอาร์ไอ
ในช่วงที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “เออีซี” ผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง โดยเนื้อหามักมุ่งเน้นให้ภาคเอกชนไทยตื่นตัวในการใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศอาเซียน เป็นตลาดใหญ่และเงินก้อนโตที่ลอยอยู่ข้างหน้า แต่..ทำอย่างไรผู้ประกอบการไทยจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโอกาสที่เปิดกว้างนี้ได้อย่างแท้จริง เป็นประเด็นสำคัญที่ควรมีคำตอบให้แก่ผู้ประกอบการไทย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คณะผู้วิจัยจากทีดีอาร์ไอ โครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย (ระยะที่ 2) ซึ่งได้ศึกษา “การเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และเครือข่ายการผลิตในอาเซียน” มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเอฟทีเอหลายราย ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และมีทั้งที่เป็นสัญชาติไทยแท้และที่มีหุ้นส่วนกับต่างชาติ พบว่า ความสำเร็จเกิดจากการใช้ 2 กลยุทธ์ 7 แนวทางการปฏิบัติที่ดี จึงขอนำมาแบ่งปันสู่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้
2 กลยุทธ์ ประกอบด้วย กลยุทธ์แรกการ “รู้เขา” ผู้ส่งออกควรรู้ข้อมูลพื้นฐาน 3 อย่างคือ ประเทศลูกค้าจำแนกสินค้าของเราเข้าไว้ในพิกัดศุลกากรใด ให้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าของเราหรือไม่ และ ถ้าสินค้าของเรามีสิทธิใช้ได้ อัตราภาษีศุลกากรภายใต้เอฟทีเอเป็นเท่าใดและแตกต่างจากอัตราภาษีปกติหรือไม่เพียงใด เพราะความแตกต่างก็คือแต้มต่อหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับนั่นเอง ซึ่งปัจจุบัน ถ้าไม่นับรวมสินค้าที่มีอัตราภาษีปกติอยู่ที่ศูนย์อยู่แล้ว จะมีสินค้าส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่ทำเอฟทีเอกับเราจำนวน 44,045 รายการหรือคิดเป็นมูลค่า 51 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปประเทศเหล่านี้ ที่มีสิทธิและควรจะใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ เนื่องจากจะได้รับแต้มต่อเหนือคู่แข่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
ยกตัวอย่างสินค้าหนึ่งรายการเช่น เสื้อเชิ้ตสตรีภายใต้พิกัด 610610 ที่ส่งออกไปญี่ปุ่นมีอัตราภาษีภายใต้เอฟทีเอเป็นศูนย์ แต่ถ้าส่งออกโดยไม่ใช้สิทธิจะต้องเสียภาษีสูงถึง 10.9 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าถ้าท่านใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ สินค้าของท่านจะมีราคาลดลงทันที 10.9 เปอร์เซ็นต์
จริงอยู่ที่ท่านอาจไม่ได้กำไรเพิ่มขึ้นโดยตรงเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับแต้มต่อที่ได้ เนื่องจากในทางปฏิบัติ กำไรจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ อุปทาน และอำนาจในการต่อรองทางธุรกิจในขณะนั้น แต่ในสภาพตลาดปัจจุบันที่มีการแข่งขันด้านราคากันอย่างดุเดือด การที่สินค้าของท่านไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรเลยหรือเสียในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แค่เพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจทำให้ราคาสินค้าของเราถูกกว่าของคู่แข่ง และมียอดการซื้อสินค้ามากขึ้น หรืออย่างน้อยๆ แต้มต่อที่ได้ก็น่าจะพอชดเชยกำไรที่ลดลงจากการต่อรองราคาได้
จากการประมาณการ พบว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นกรณีศึกษาบริษัทหนึ่งได้ประโยชน์จากการเสียภาษีลดลงรวมประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 477 ล้านบาทต่อปี ส่วนบริษัทขนาดใหญ่อีกบริษัทได้ประโยชน์ไป 6.5 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 2,246 ล้านบาทต่อปี !!!
บริษัทขนาดกลางอีก 2 บริษัทก็ได้ประโยชน์ในระดับสูงไม่แตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่เท่าใดนัก โดยได้ประโยชน์ไป 6.5 และ 5.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
เมื่อรู้เขาแล้ว กลยุทธ์ต่อมาคือการรู้เรา หลังจากที่รู้ว่าผลประโยชน์ที่จะได้เป็นเท่าใดแล้ว ผู้ส่งออกควรพิจารณาต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อตัดสินใจว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอนั้นจะคุ้มค่าหรือไม่
ทั้งนี้ ต้นทุนที่ผู้ส่งออกต้องใช้ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดมีอยู่ 2 ด้าน ต้นทุนแรกคือต้นทุนจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดจนแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ เอฟทีเอแต่ละฉบับมีการระบุกฎเกณฑ์ว่า ท่านสามารถใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าแต่ละรายการได้จากแหล่งใดได้บ้าง และใช้จากแต่ละแหล่งได้มากน้อยเท่าใด กฎเกณฑ์นี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่ากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น เสื้อเชิ้ตที่สามารถใช้สิทธิส่งออกไปญี่ปุ่นได้ต้องใช้ผ้าที่ผลิตจากประเทศอาเซียนหรือจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หากท่านใช้ผ้าจากประเทศอื่น ก็อาจเจอปัญหา 3 เด้ง คือ ผ้าแพงขึ้น การวิ่งวุ่นหาซัพพลายเออร์รายใหม่ และการปรับการทำงานของเครื่องจักรให้เข้ากับผ้าจากแหล่งใหม่
ต้นทุนที่สองคือต้นทุนจากการยื่นขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าใบซีโอ (Certificate of Origin: C/O) หากไม่นับค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีราคา 30 บาทต่อสินค้าหนึ่งรายการภายใต้ FTA หนึ่งฉบับ และค่าธรรมเนียมในการออกใบซีโอที่มีราคา 30 บาทต่อการส่งออกหนึ่งครั้ง ตลอดจนค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ติดต่อ ประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศและชิปปิ้ง ซึ่งไม่มาก แต่ต้นทุนที่ควรให้ความสำคัญจริงๆ คือต้นทุนแฝงในการจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เอกสารที่ต้องใช้นั้นประกอบด้วย ประกอบด้วย เอกสารแฟ้มแรกเป็นเอกสารโครงสร้างต้นทุนที่สรุปว่าในการผลิตสินค้าหนึ่งหน่วย มีการใช้วัตถุดิบอะไรในราคาเท่าใด ซื้อวัตถุดิบจากที่ไหน กำไรเท่าใด ในแฟ้มนี้ ท่านต้องเก็บใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินจากซัพพลายเออร์ทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน แล้วไปยื่นต่อกรมการค้าต่างประเทศเพื่อยืนยันว่าสินค้าของท่านผ่านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
เอกสารแฟ้มที่สองเป็นเอกสารยืนยันการส่งออกภายใต้เอฟทีเอที่สรุปว่าท่านจะส่งสินค้าที่ได้รับการประทับตราว่าผ่านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแล้วไปให้ใคร ปริมาณเท่าใด ราคาเท่าใด และส่งไปอย่างไร ในแฟ้มนี้ มีเอกสารใบหนึ่งที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าท่านต้องการใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอฉบับใด เช่น ฟอร์มอะติก้าดี (ATIGA D) จะใช้กับเอฟทีเอกับประเทศอาเซียน ฟอร์มเจเทปป้า (JTEPA) จะใช้กับเอฟทีเอกับญี่ปุ่น และยังต้องใช้ใบกำกับภาษีและใบตราขนส่งสินค้าที่จ่าหน้าถึงลูกค้าของท่านด้วย
การจัดเตรียมเอกสารทั้งสองแฟ้มนี้แม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมีการบริหารจัดการภายในองค์กรดีๆ ก็อาจเป็นต้นทุนไม่มากและแทบคงที่เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกของท่าน
สำหรับ 7 แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่จะช่วยให้การใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอราบรื่นไปได้ด้วยดี ประกอบด้วย
แนวทางแรก ควรมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่พนักงานฝ่ายต่างๆ ให้ชัดเจน ตั้งแต่การหาข้อมูลอัตราภาษีภายใต้เอฟทีเอ การตัดสินใจยื่นขอใบซีโอ การรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินการไปติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศ การมอบหมายงานไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ้างพนักงานเพิ่มเสมอไป บริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีพนักงานจำกัดก็สามารถทำงานเหล่านี้ได้ไม่ลำบาก เช่น การให้พนักงานฝ่ายการตลาดและพนักงานฝ่ายขายที่มีอยู่เดิมหาข้อมูลอัตราภาษีภายใต้เอฟทีเอและตัดสินใจว่าจะยื่นขอใบซีโอหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วพนักงานเหล่านี้จะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในการหาข้อมูลด้านการตลาดและการติดต่อประสานงานกับลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนการรวบรวมเอกสารและการติดต่อกับกรมการค้าต่างประเทศก็อาจให้พนักงานฝ่ายโลจิสติกส์ในบริษัทหรือจ้างชิปปิ้งหรือบริษัทนายหน้าที่ช่วยเหลือท่านในการส่งออกเป็นหัวหอกในการดำเนินการต่อไป
แนวทางที่ท่านควรทำประการต่อมาคือการจัดการระบบการประสานงานระหว่างฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ผู้รวบรวมเอกสารได้รับ หนึ่ง ข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งมักจะรับผิดชอบโดยพนักงานฝ่ายจัดซื้อที่เป็นผู้ติดต่อกับซัพพลายเออร์ สอง ข้อมูลราคาขาย F.O.B. ซึ่งกำหนดโดยพนักงานฝ่ายขาย และสาม ข้อมูลการขนส่งสินค้าทางเรือ ทางอากาศ หรือทางบก ซึ่งอยู่กับพนักงานฝ่ายโลจิสติกส์ภายในบริษัทหรือชิปปิ้ง
แนวทางที่สามที่สำคัญไม่แพ้กันคือการจัดการระบบบัญชีและระบบการผลิตของบริษัทให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาตรวจสอบย้อนหลัง ตรงนี้เป็นประเด็นที่หลายบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็กกังวลกันมาก แต่ถ้าท่านเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้ได้ อย่าว่าแต่ผลประโยชน์ด้านภาษีจากเอฟทีเอเลย ผลประกอบการก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นด้วย สำหรับบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีการส่งออกสินค้าหลายรายการก็อาจพิจารณาความคุ้มทุนจากการใช้ระบบการวางแผนบริหารทรัพยากรขององค์กร อาทิ โปรแกรมอีอาร์พีต่างๆ
กรณีศึกษาส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า ต่อให้เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก็ยังต้องเจอปัญหาอุปสรรคในการขอใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ คาถาที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ท่องไว้ในใจตลอดคือ ท้อได้แต่ไม่ถอย พอเจอปัญหา เขาจะเก็บรวบรวมเป็นประเด็นไว้ แล้วนำมาวางแผนว่าจะแก้ไขยังไง แล้วลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติ และปรับปรุงแก้ไขต่อไปอีกเป็นวงจรไปเรื่อยๆ ตามแนวคิดพีดีซีเอ ในระยะยาวแล้ว ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
แนวทางที่ห้า เน้นการสื่อสารข้อมูลกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร เวลาเจอปัญหาอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว มาเล่าสู่กันฟังดีกว่า บางปัญหาอาจแก้ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนและปรึกษาข้อมูลกันระหว่างพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฝึกอบรมพนักงานเป็นระยะๆ บางปัญหาอาจแก้ได้ด้วยการปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐโดยตรงหรือกระซิบผ่านนักวิชาการและสื่อมวลชน
ถ้ามั่นใจแล้ว ก็ลุยต่อด้วยการเอาสิทธิประโยชน์ด้านภาษีไปใช้เป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ลองจินตนาการดูว่า ลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ของท่านจะมีความสุขขนาดไหน ถ้าเขาไม่ต้องควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์มาจ่ายเป็นค่าภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีภายในต่างๆ ของประเทศเขาในปริมาณมากเท่าเก่า
แนวทางสุดท้ายคือการติดตามข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเอฟทีเออย่างสม่ำเสมอ ช่องทางที่น่าจะสะดวกและมีต้นทุนต่ำที่สุดคือ การหาข้อมูลด้วยตัวเองจากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.thaifta.com) หรือสอบถามจากลูกค้าซึ่งอาจรู้ข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีช่องทางผ่านการเข้าร่วมงานสัมมนา คอลล์เซ็นเตอร์ สื่อหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร แต่หากไม่ต้องการหาเอง ท่านก็สามารถปรึกษากับชิปปิ้งหรือบริษัทนายหน้าที่ช่วยเหลือท่านในการส่งออก
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านเริ่มจะเห็นภาพเงินก้อนโตลอยมาอยู่ตรงหน้าใกล้ๆ แล้วจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและลูกค้าในตลาดใหม่ๆ แต่ถ้ายังไม่เริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ท่านอาจน้ำตาตกเพราะเสียเปรียบคู่แข่งขันที่ชิงขยับตัวใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอก่อนท่าน !!!
ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย