เอ็มเทค-สวทช. จับมือ SUE พัฒนาคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นเป็นรายแรก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 27, 2003 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--เอ็มเทค
เอ็มเทค-สวทช. จับมือ SUE พัฒนาคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นเป็นรายแรก บุกเบิกการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยนำการประเมินวัฏจักรชีวิตมาประยุกต์ใช้อย่างครบวงจร คาดโครงการนำร่องนี้จะเป็นโครงการสาธิตให้กับโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยเน้นคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ และรักษาสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร. ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามและแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง เอ็มเทค และบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน) หรือ SUE ภายใต้
"โปรแกรมเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทย" หรือเรียกสั้นๆ ว่า GMTAP (Green Manufacturing Technical Assistance Program) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ว่า GMTAP เป็นโครงการที่ เอ็มเทค ริเริ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรกในประเภทอุตสาหกรรมนี้คือ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของตู้เย็น จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากร พบว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าประเภท "พัดลมและเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น" และ "ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ" มีมูลค่ารวมถึงปีละ~30,000 ล้านบาท จึงนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญ ซึ่งบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการเป็นบริษัทแรก คือ บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน)
นายสุรเดช บุณยวัฒน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน) หรือ SUE ได้เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีปริมาณการขายคอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็น ~1,900 ล้านบาทต่อปี ปริมาณการผลิต ~2 ล้านตัวต่อปี โดยจำนวนนี้ ~1.1 ล้านตัว ได้ส่งออกไปต่างประเทศ การร่วมมือกับเอ็มเทคและผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จึงเป็นก้าวที่สำคัญต่อบริษัททีเดียว ทั้งนี้ บริษัท SUE รู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้เป็นบริษัทนำร่อง "รุ่นบุกเบิก" ในประเทศไทย ที่จะนำเทคโนโลยีและหลักการของการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment ; LCA) และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design ; EcoDesign) มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและครบวงจร พร้อมทั้งได้กล่าวถึงความคาดหวังว่า SUE จะสามารถตอบสนองต่อโครงการดังกล่าวได้ โดยจะประยุกต์ใช้ LCA & EcoDesign เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์คอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็นโดยการปรับเปลี่ยนวัสดุจากเหล็กหล่อมาเป็นวัสดุผงเหล็กอัดด้วยความดันสูง ซึ่งการปรับเปลี่ยนการออกแบบและกรรมวิธีการผลิตใหม่นี้จะช่วยลดขั้นตอนการผลิต ลดเศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิต ลดการใช้พลังงาน และลดต้นทุนการผลิต รวมถึง การลดมลภาวะต่างๆ ให้น้อยลง ตลอดจน มีความคาดหวังว่า บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค จำกัด (มหาชน) จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบ และเป็นสถานที่เรียนรู้ของอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อนำพา สภาพแวดล้อมดีๆ กลับมาสู่บ้านของเรา ประเทศของเรา และโลกของเราในที่สุด
เนื่องจากความรู้ด้าน LCA, EcoDesign, และ Green Materials Technology เป็นศาสตร์ในลักษณะสหสาขา และค่อนข้างใหม่ต่อประเทศไทย อีกทั้ง มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการการผลิต ให้สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก คือ "ต้องมีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ และดีต่อสิ่งแวดล้อม" จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่อง "การค้าและสิ่งแวดล้อม" เป็นคู่แฝดที่แยกจากกันไม่ได้ในปัจจุบัน และส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องประสบกับมาตรการและกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของประเทศคู่ค้า เช่น ระเบียบว่าด้วยเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เรียกย่อๆ ว่า "ดับเบิ้บยูทริปเปิ้บอี" (WEEE) และระเบียบว่าด้วยการห้ามใช้สารอันตรายบางชนิดในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ รู้จักกันในนาม "อาร์โอเอชเอส" (RoHS) ซึ่งกำหนดโดยสหภาพยุโรป เป็นต้น นอกจากนี้ หากมองประเด็นของสถานภาพสิ่งแวดล้อมภายในประเทศไทยเอง จะพบว่ามีความจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลและพัฒนาให้ดีขึ้น เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้หากสิ่งแวดล้อมตกอยู่ในสภาพเลวร้ายลงมากๆ ความต้องการของประชาชนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศ
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวเบื้องต้น จึงทำให้ เอ็มเทค ริเริ่มโครงการ GMTAP และเสนอขอความสนับสนุนด้านเทคนิคบางส่วนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทุนชื่อ Green Aid Plan หรือ GAP* เพื่อผนวกเอาความรู้และเทคโนโลยีภายในเอ็มเทค เข้ากับความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาของ
อุตสาหกรรมไทยและเพื่อนบ้าน โดยลักษณะของโครงการในระยะแรกจะเน้นที่การพัฒนากำลังคนและสร้างขีดความสามารถของไทย ผ่านการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น เช่น การฝึกอบรมด้านเทคนิค และดูงานของบริษัทชั้นนำและสถาบันวิจัยในญี่ปุ่น เป็นต้น จากนั้น พยายามนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์แก้ปัญหาจริงในอุตสาหกรรมในประเทศในลักษณะโครงการวิจัยนำร่อง โดยประเภทอุตสาหกรรมแรกที่จะดำเนินการคืออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญต่อบริษัททีเดียว
ในส่วนของความคาดหวังของ เอ็มเทค นั้น รศ.ดร. ปริทรรศน์ ได้เปิดเผยว่า มีอยู่ 2 ส่วน คือ ในส่วนของโครงการนำร่องที่ร่วมมือกับ SUE และ ในส่วนของโปรแกรมใหญ่คือ GMTAP โดยในส่วนแรกนั้น เอ็มเทค หวังว่า โครงการนำร่องดังกล่าวจะเป็นโครงการสาธิตที่ดีให้แก่โรงงานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้ง จะช่วยให้ทีมวิจัยในโครงการซึ่งจะมีทั้งบุคลากรของเอ็มเทค และของ SUE ได้มีประสบการณ์และได้พัฒนาทักษะในการทำงานด้านนี้ และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยในที่สุด ที่จะสามารถนำความรู้ไปขยายผลต่อไปได้ สำหรับในส่วนของ GMTAP นั้น เอ็มเทค หวังว่า จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถด้าน LCA, EcoDesign, และ Green Materials Technology ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอที่จะช่วยอุตสาหกรรมในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ให้ดำเนินการผลิตและบริการที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกให้มีการดำเนินการผลิตที่สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ--จบ--
-รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ