กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดสัมมนางานวิจัยเรื่อง พลวัตของระบบสวัสดิการสังคมท้องถิ่นกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ข่าวทั่วไป Friday August 29, 2003 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสัมมนางานวิจัยเรื่อง “พลวัตของระบบสวัสดิการสังคมท้องถิ่นกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม” เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น และนำผลวิจัยไปกำหนดนโยบายส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ ตลอดจนรูปแบบแนวทางในการจัดสวัสดิการสังคมของท้องถิ่นและประเทศต่อไป โดยมี นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อเร็วๆนี้
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาประเทศไทยในอนาคต มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ร่วมของสังคมไทยนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบทบาทการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพและบทบาททางเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมอยู่บนรากฐานการพัฒนาเป็นสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง มีระบบการบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานรากของสังคมในระยะที่ผ่านมายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากยังขาดภูมิคุ้มกันและไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากกระแสโลกาภิวัฒน์และเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงและไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลักประกันความมั่นคงของสังคมที่มีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น มาตรการหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายคือ งานสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของประชาชนและเป็นการพัฒนาคน อันจะนำประโยชน์ไปสู่ตนเอง ครอบครัวและสังคม ย่อมจะส่งผลไปถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศเป็นส่วนรวม ซึ่งการจัดสวัสดิการสังคมไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือบุคคลที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันและการส่งเสริมสวัสดิการในสังคมให้ดีขึ้นด้วย โดยยึดหลักการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเป็นแม่แบบของงานสวัสดิการสังคมเป็นหลัก
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ ระบบสวัสดิการสังคมของคนไทยมี 2 ระบบ ที่เป็นคู่ขนานกันคือ ระบบสวัสดิการโดยรัฐและระบบสวัสดิการสังคมแบบดั้งเดิม ถึงแม้ว่าระบบสวัสดิการของรัฐมีจุดแข็ง คือ มีทรัพยากรมาก มีการจัดองค์กรอย่างมีระบบและมีการบริการหลากหลาย แต่ก็มีจุดอ่อน คือ เป็นระบบที่กำหนดให้ชุมชนรอรับการช่วยเหลือเป็นหลัก มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ขาดความยืดหยุ่น และไม่คำนึงถึงทรัพยากรและเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากนัก ส่งผลให้ชุมชนมีส่วนร่วมไม่เต็มที่และไม่สอดคล้องกับปัญหาของท้องถิ่น ดังนั้น การศึกษาเรื่อง พลวัตของระบบสวัสดิการสังคมของท้องถิ่นกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะช่วยทำให้ทราบถึงระบบสวัสดิการสังคมแบบพื้นบ้านของท้องถิ่นว่า มีพลวัตหรือการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรบ้าง และจะทำให้เกิดความเข้าใจต่อระบบสวัสดิการสังคมในชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านสวัสดิการสังคมของประเทศ
นางผาณิต กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2546 — 2548 มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคมของท้องถิ่น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการการจัดการหรือการปรับตัวของชุมชนในการเสริมสร้างศักยภาพระบบสวัสดิการสังคมโดยรวม ซึ่งในปี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ภาคเหนือเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการและนักปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคมต่อผลงานวิจัย ก่อนนำผลการวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดสวัสดิการสังคมทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชนต่อไป--จบ--
-สพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ