กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ศอส.
ศอส. รายงานยังมีน้ำท่วม 28 จังหวัด เตือน 5 จังหวัดเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากกำชับจังหวัดท้ายเขื่อน และจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำ
ศอส. รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยใน 28 จังหวัด พร้อมเตือน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา และภูเก็ต เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก กำชับจังหวัดท้ายเขื่อนและจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมา ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ และเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 28จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย และนครราชสีมา รวม 201 อำเภอ 1,486 ตำบล 11,208 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 826,377 ครัวเรือน 2,604,220 คน ผู้เสียชีวิต 244 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ บ่อปลา 105,963 บ่อ สัตว์ได้รับผลกระทบ 8,511,689 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 182 สาย แยกเป็น ทางหลวง 43 สาย ใน 13 จังหวัด ทางหลวงชนบท 139 สายใน 23 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,263ลบ.ม./วินาที
ลุ่มน้ำวัง ที่อำเภอสามเงา อำเภอเมือง จังหวัดตาก ลุ่มน้ำยม ที่อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอคูเมือง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเมือง อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ลุ่มน้ำชีที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 669 ลบ.ม./วินาที ลุ่มน้ำท่าจีน ที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,578ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณไหลผ่าน 3,622 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,930 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 98เปอร์เซนต์ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 136 เปอร์เซ็นต์
นายวิบูลย์ กล่าวเตือนว่า ในระยะ 1-2 วันนี้ ประเทศไทยมีฝนตกกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี (อำเภอขลุง) ตราด (อำเภอเกาะช้าง และอำเภอบ่อไร่ ) ระนอง (อำเภอกระบุรี และอำเภอกะเปอร์) พังงา (อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วป่า) ภูเก็ต (อำเภอกระทู้ และอำเภอเมืองภูเก็ต) ต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากสถานการณ์วิกฤตจะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ จากการประสานสถานการณ์น้ำในเขื่อน พบว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรีมีการระบายน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งสองแห่ง เตรียมรับมือผลกระทบจากการระบายน้ำในระยะนี้ไว้ด้วย นอกจากนี้ คาดว่า มวลน้ำของทั้งสองเขื่อนใหญ่จะไหลมารวมกันในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างช่วงวันที่ 13-16 ตุลาคม 2554 ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้การผลักดันน้ำออกสู่ทะเลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับมือภาวะน้ำล้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณทางตอนเหนือของประเทศยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศอส.จึงขอเตือนให้จังหวัดท้ายเขื่อนและจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมา ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ และเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น พร้อมตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมรับมือและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์วิกฤต ให้จัดเตรียมแผนและพื้นที่รองรับการอพยพของประชาชนไว้ด้วย
0-2243-0674 0-2243-2200
www.disaster.go.th