กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.48) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 1 ดินแดง โดยมี ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธนา ชีรวินิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไชยยุทธ ณ นคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายธีรเดช ตังประพฤทธิ์กุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ข้าราชการเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชน ร่วมพิธี ณ โรงบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 1 ดินแดง เขตดินแดง
โครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมระยะที่ 1 หรือโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง เป็น 1 ในโรงบำบัดน้ำเสีย 7 แห่งของกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ได้เปิดเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียจำนวน 6 แห่งไปแล้ว คือ 1.โรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยา 2.โรงบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์ 3.โรงบำบัดน้ำเสียยานนาวา 4.โรงบำบัดน้ำเสียหนองแขม 5.โรงบำบัดน้ำเสียทุ่งครุ และ 6.โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร โดยโรงบำบัดน้ำเสียดินแดง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึงวันละ 350,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตดินแดง เขตปทุมวัน บางส่วนของเขตพญาไท เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตสัมพันธวงศ์ เขตราชเทวี และเขตพระนคร ถือได้ว่าเป็นโรงบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ รองรับประชาชนในพื้นที่บริการได้ถึง 1,080,000 คน
เมื่อเปิดเดินระบบโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงแล้ว น้ำเสียในพื้นที่ดังกล่าวจะถูกรวบรวมเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ แล้วปล่อยน้ำที่ได้มาตรฐานลงสู่บึงมักกะสัน คลองสามเสน สภาพน้ำเสียในคูคลองต่างๆ เช่นคลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู คลองมหานาค คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกเจือจางลงและค่อยๆ ปรับสภาพให้มีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น
ทั้งนี้เมื่อเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 7 โรงแล้วจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 42% ของปริมาณน้ำเสียทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ในอนาคตยังจะดำเนินการโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ โรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย โรงบำบัดน้ำเสียบางซื่อ และโรงบำบัดน้ำเสียธนบุรี ซึ่งหากทั้ง 3 โครงการแล้วเสร็จ เมื่อเดินเครื่องทั้งหมดจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 70% ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครก่อนที่จะปล่อยลงสู่คลองต่างๆ ดังนั้น คูคลองต่างๆ ในพื้นที่บริการที่เคยรับน้ำเสีย จากอาคารบ้านเรือนโดยตรง จะถูกเจือจางและค่อยๆ ฟื้นสภาพให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้เพื่อให้การบำบัดน้ำเสียเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชน สถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการรักษาแม่น้ำคูคลองโดยไม่ระบายน้ำที่ไม่ผ่านการบำบัดลงคลองโดยตรง รวมถึงไม่ทิ้งขยะ หรือสิ่งปฏิกูลลงคลอง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การฟื้นฟูสภาพน้ำในคูคลองและแม่น้ำให้ใสสะอาด สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมาตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคูคลอง เป็นนโยบายหลักของกทม.ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ 1,049 คลอง มีความสะอาด สิ่งแวดล้อมดี โดย กทม.ได้ริเริ่มโครงการ 10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด เป็นโครงการต้นแบบ อีกทั้ง โครงการ “หันหน้าหาคลอง” เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา และคูคลอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กทม.จะเดินเครื่องบำบัดน้ำเสียที่ได้คุณภาพแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำคูคลอง ตลอดจนสถานประกอบการ ร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงงาน ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู สภาพแม่น้ำคูคลอง ให้มีความสวยสะอาดสดใส เพื่อลูกหลานต่อไปในอนาคต
อนึ่ง ในส่วนของการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย อยู่ระหว่างหารือร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) ถึงแนวทางและวิธีการจัดเก็บ ซึ่งหากได้ข้อสรุปจะประชาสัมพันธ์ในทราบต่อไป
สามารถคลิกดูภาพข่าวได้ที่ www.thaipr.net--จบ--