พงศ์เทพให้โอวาทผบ.เรือนจำทั่วประเทศประกาศดึงเงินใต้โต๊ะเข้าสู่ระบบอย่างเปิดเผย

ข่าวทั่วไป Friday September 12, 2003 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--กระทรวงยุติธรรม
รมว.ยุติธรรมมอบโอวาทผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ ระบุต้องทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ ยุติการหาเงินใต้โต๊ะโดยดึงเงินข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง พร้อมกำชับให้พัฒนาเรือนจำ นำผู้ต้องขังสร้างรายได้เป็นทุนหลังพ้นโทษ และต้องรายงานความคืบหน้าทุก ๆ 2 เดือน
เมื่อวานนี้ (11 กันยายน 2546) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรมเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศจำนวน 180 คน เข้าร่วมการสัมมนา
นายขวัญชัย วศวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังโดยถือว่าผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องนำตัวมาบำบัดฟื้นฟู โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดไว้ในสถานตรวจพิสูจน์ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดไว้จำนวน 93 แห่งทั่วประเทศ โดยขณะนี้ได้ดำเนินงานในส่วนดังกล่าวไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือนเศษ กรมราชทัณฑ์จึงจัดงานสัมมนาผู้บริหารงานราชทัณฑ์ ทั่วประเทศเพื่อศึกษา วิเคราะห์ ปัญหา อุปสรรค แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและเกิดประโยชน์สูงสุดสามารถตอบสนองนโยบายของกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความต้องการของสังคมได้
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานที่ต้องควบคุมผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากโดยเรือนจำและทัณฑสถานถือเป็นด่านหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องขังตามสมควรภายใต้กฎระเบียบของเรือนจำโดยผู้บริหารจะต้องคำนึงว่าจะปรับระบบการลงทัณฑ์อย่างไรให้สามารถควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ในเรือนจำอย่างสงบ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ 2 ทาง คือ
(1) การใช้พระเดช คือ การใช้อำนาจทำให้เกิดความเกรงกลัวและอยู่ในระเบียบวินัย
(2) ให้ความรักความอบอุ่น ทำให้เกิดความพอใจและอยู่อย่างสงบ
“ทำอย่างไรให้ระบบการทำงานของเรือนจำโปร่งใส เจ้าหน้าที่ทำงานตามระบบ ระเบียบ เพราะผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำนั้นนั้นเป็นผู้ถูกจำกัดอิสรภาพแต่ไม่ได้หมายความว่าขาจะต้องมารองรับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง คนที่เสี่ยงต่อการถูกรังแกเราจะต้องดูแลเป็นพิเศษ และถ้าหากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำมีส่วนทำให้นักโทษถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา คนที่ทำเกินกว่าเหตุนั้นเรายอมรับไม่ได้ และไม่สามารถให้คนคนนั้นทำงานต่อไปได้อีก” รมว.ยุติธรรม กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเสมอว่าจะต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสร้างภาระให้เป็นพลัง กรมราชทัณฑ์มีภาระดูแลผู้ต้องขังประมาณ 2.3 แสนคน ซึ่งเกินกว่าสภาพเป็นจริงที่รับได้จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดต่อว่าทำอย่างไรจะเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เพราะหากสามารถนำคนจำนวนเพียงครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 1.2 แสนคน มาสร้างรายได้ให้ประเทศชาติเพียงวันละ 100 บาท ในวันหนึ่ง ๆ จะได้เงินถึง 12 ล้านบาท หากในปีหนึ่งทำงานเพียง 200 วัน ก็สามารถสร้างรายได้ถึง 2,400 ล้านบาทและเงินที่ได้จากแรงงานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ต้องขังมีเงินทุนที่จะนำไปลงทุนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวยามพ้นโทษ
ส่วนการแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำนั้นจะต้องหันเหนักโทษให้ไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น ทำการเกษตร ปลูกป่า การกักบริเวณในบ้าน หรือการกักขังเฉพาะวันหยุด ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำต้องออกพบปะผู้บริหารภาคธุรกิจในพื้นที่เพื่อหางานมาให้ผู้ต้องขังสร้าง ผลผลิตกล่าวคือให้ผู้ต้องขังใช้เวลาในคุกให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
“จะทำงานอย่างไรให้โปร่งใส โดยเฉพาะเงินใต้โต๊ะจะทำอย่างไรให้มาอยู่บนโต๊ะ ผู้ต้องขังระหว่างรอการพิจารณาคดีหาบางคนยอมจ่ายเงินเพื่อแลกความสะดวกระหว่างอยู่ในเรือนจำนั้นมีเหตุผลหรือไม่ที่จะอำนวยความสะดวกสบายให้ ถ้าซื้อความสบายตามระบบโดยคำนึงถึงคนที่ ไม่มีเงินซื้อด้วย เช่น ต้องการนอนฟูกต้องจ่าย 2,000 บาท คือ ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่าเพื่อไว้ใช้เอง 1 เตียงส่วนอีกเตียงหนึ่งใช้สุ่มหรือจับสลากเลือกคนที่ไม่มีเงินซื้อความสะดวกสบายให้เขาได้นอนฟูกด้วย”
นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรมยังปรารภเรื่องเด็กติดผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงซึ่งตั้งครรภ์ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจนกว่าจะคลอดเสร็จ และทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กมีตราบาปเพราะว่ามีสูติบัตรระบุว่าเกิดในเรือนจำ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการให้สวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ด้วยการสร้างที่พักอาศัยให้อยู่ในระยะยาว โดยได้ในตอนท้ายได้ย้ำให้ผู้บัญชาการเรือนจำทุกแห่งรายงานผลการพัฒนาเรือนจำต่าง ๆ ในทุก ๆ 2 เดือน ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้รายงานผลการพัฒนาเรือนจำ 3 เดือน / ครั้ง เพื่อที่จะได้รู้ว่าในแต่ละเรือนจำได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ