กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--อสมท
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำแนวคิดเสริมสร้างสังคม อุดมปัญญาด้วยการติดอาวุธทางธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ล่าสุดกับกิจกรรมครั้งพิเศษ “เสวนาเรียนรู้วิถีธรรมตามรอยพุทธทาส ปีที่ 2” จัดขึ้น ณ สวนโมกข์กรุงเทพ พื้นที่เล็กๆ สงบเย็น ใจกลางเมืองที่แสนวุ่นวาย ในครั้งนี้มีประเด็นเสวนาชวนคิดในหัวข้อ “แล้วเราควรคิดอย่างไร...ในวาระพระพุทธศาสนาบังเกิดมาแล้ว 2,600 ปี” โดยแขกรับเชิญพิเศษ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน , คุณชนินทร์ ชมะโชติ กรรมการผู้จัดการ บจก.พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ ผู้ผลิตสารคดีชุดยิ่งใหญ่ “ตามรอยพระพุทธเจ้า” และ นพ. บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มาร่วมสะท้อนมุมมอง ที่ชวนนำกลับไปขบคิดและค้นหาคำตอบ
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ต่างยอมรับว่าแนวทางของพุทธศาสนาที่สืบทอดมานานกว่า 2,600 ปี มีวิธีการปฏิบัติที่มีเหตุและผล สามารถพิสูจน์ได้ตามแนวทางวิทยาศาสตร์ หลักธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าค้นพบ สามารถทำให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้ จึงทำให้เรื่องราววิถีพุทธ เป็นเรื่องที่ใครๆต้องกล่าวถึงอยู่เรื่อยๆ
ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ออกตัวว่าไม่ใช่นักการศาสนา ไม่ได้เคร่งครัดพระพุทธศาสนา แต่เป็นนักเรียนรู้ที่อ่านหนังสือเยอะ ตั้งแต่คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อันกุรอาน และพระไตรปิฎก
ดร. สมเกียรติ เปรียบเทียบความแตกต่างในการเผยแพร่แนวคิดระหว่างนักปราชญ์ตะวันตกและศาสดาไว้ว่า “หากพระพุทธเจ้าเป็นคู่แข่งของเพลโตและไม่ได้เป็นศาสดาของพุทธศาสนา แนวคิดของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในทุกตำราในโลกนี้ นั่นหมายถึงปรัชญาแนวคิดของพระพุทธเจ้าจะมีการถกเถียงและเผยแพร่ในมุมต่างๆมากขึ้น แต่เมื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ใช้เวลายาวนานในการบันทึกเป็นเล่มกลายเป็นคัมภีร์ของชาวพุทธ เมื่อเป็นคัมภีร์คนจึงไม่ถกเถียงกัน ดร. สมเกียรติ คิดว่าทุกสาสนาในยุคนี้เริ่มผันแปร อาจเรียกว่ามีความเสื่อมลงศาสนาต้องต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์และวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์พยายามท้าทายเพื่อพิสูจน์ศาสนาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ในโลกตะวันตกศาสนาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์จึงค่อยๆ ปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับเพราะหากพิสูจน์ไม่ได้มนุษย์จะเริ่มสงสัยมากขึ้น สำหรับศาสนาพุทธนั้น ไม่ต้องตามแก้ตัวว่าต้องปรับพระคัมภีร์ใหม่ เพราะสามารถอธิบายได้ทุกเรื่อง ตามแนวทางวิทยาศาสตร์”
อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธศาสนาจะเป็นของดีสำหรับมนุษยชาติ แต่พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ดร. สมเกียรติ เห็นว่า กระบวนการหรือโครงสร้างการจัดการศาสนาพุทธมีปัญหา โดยเฉพาะการจัดการ ในวัดมีส่วนทำให้ศาสนาเสื่อมถอย วันนี้กระบวนการสงฆ์ในบ้านเราจำเป็นต้องมี Quality Control กันแล้ว
คุณชนินทร์ ชมะโชติ ซึ่งได้เดินทางไปทำสารคดีชุดยิ่งใหญ่ตามรอยพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย และได้ซึมซับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจากการทำสารคดีในครั้งนั้น ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า “ในวาระที่พระพุทธศาสนาบังเกิดมาแล้ว 2,600 ปี บนโลกนี้ แต่สังคมยังมีความขัดแย้ง วุ่นวาย มีต้นเหตุจากความเชื่อ คิดว่าวันนี้เราต้องเริ่มที่จะปลูกฝังให้คนในสังคม ไม่โกรธโดยง่าย ไม่เชื่อโดยง่าย ด้วยการน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า โยนิโสมนสิการ มาเผยแพร่
โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาท ทุกวันนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะเราไม่วิเคราะห์ เมื่อรับข้อมูลมา ก็โกรธ เกลียด ทันที หากนำหลักธรรมข้อนี้มาใช้สังคมจะสงบและเป็นสุข เป็นหลักง่ายๆที่เริ่มได้ที่ตัวคุณเอง หรืออย่างในองค์กรของคุณชนินทร์เอง ก็มีการนำเรื่องนี้มาปลูกฝังให้กับพนักงาน”
นพ. บัญชา พงษ์พานิช ช่วยขยายความหมายของคำว่า “พุทธชยันตี” ว่าคือ วันครบรอบปี แห่งวันประสูติของพระพุทธเจ้า หรือที่คนไทย เรียกว่า วันวิสาขบูชา ที่มิใช้มีความสำคัญเพียงวันประสูติ แต่ยังเป็นวันตรัสรู้และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าอีกด้วย ส่วนพุทธชยันตี 2,600 ปี ที่จะฉลอง ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ปรารภเหตุการณ์สำคัญในวันตรัสรู้เป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประกาศพระศาสนาใช้เวลาทั้งสิ้น 54 ปี
สำหรับมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้มีการเตรียมการเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆในวาระเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี พระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรม อย่างต่อเนื่อง อาทิ เทศกาลพุทธลีลา ภาพยนตร์พระพุทธศาสนานานาชาติ ประเทศไทย ครั้งที่ 1 การจัดฉาย ดู และเสวนาหาข้อธรรมจากภาพยนตร์ , การอบรมผลิตและประกวดหนังสั้น , การประกวดหนังสั้นจากมือถือ , เทศกาลหนังพระพุทธศาสนากลางแปลง หนังสือ หลักพุทธธรรมพึงรู้ การผลิตจัดทำ เผยแพร่เนื้อหาและต้นฉบับ หลักสูตรธรรมวาที เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ผู้มุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติ เพื่อการสืบพระศาสนา
นอกจากนี้ นพ. บัญชา ยังหยิบยก เอกสารจากคำแนะนำของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ที่ให้ความหมายของคำว่า พุทธชยันตี ว่า “การชนะอย่างชาวพุทธ” การชนะ อย่างชาวพุทธ ไม่ใช่การชนะสงคราม ไม่ใช่ชนะคนอื่น แต่ต้องเป็นการชนะตนเอง ซึ่งการจะชนะตนเอง ให้ได้นั้นท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ให้น้อมนำหลักอริยวัฑฒิ 5 ที่ว่าด้วยหลักความเจริญของอารยชน มาประพฤติปฏิบัติ ประกอบด้วย
ศรัทธา คือ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถบรรลุเป็นพุทธได้ด้วยพุทธคุณ ธรรมคุณและ สังฆคุณ
ศีล มีความประพฤติปฏิบัติดี มีวินัย สุจริตซื่อตรง
สุตะ ศึกษาเล่าเรียนข่าวสารข้อมูลรอบด้าน รู้หลักความจริง
จาคะ มีน้ำใจ ความเสียสละ เผื่อแผ่แบ่งปัน ชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ชอบที่จะให้ ไม่ตระหนี่ คับแคบ เห็นแก่ตัว
ปัญญา รู้รอบ รู้คิด รู้พิจารณา รู้ผิดชอบชั่วดี รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริงขิงสิ่งทั้งหลาย
หลัก 5 ข้อ ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก สำคัญที่สุด ถ้าทำได้สังคมจะสงบสุข ผู้คนไม่บกพร่องด้วยศีลธรรมเหมือนเช่นทุกวันนี้
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ บมจ. อสมท กับการทำหน้าที่กระจกสะท้อนสังคม ผ่านการสะท้อนมุมคิดเรื่องพระพุทธศาสนา จากการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งมุมมองของโลกตะวันตก วิทยาศาสตร์ รวมทั้งการปรับตัวต่างๆ ของศาสนาให้สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งสามารถที่จะนำเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพื่อที่เราจะสามารถปรับตัวอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. อสมท โทร 0 2201 6162
สิริมน (แหวน) , นริสา (มาย) , ปานจิตร (อาร์ต)