กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
5. เรื่อง การแปลงหนี้เงินยืมเป็นทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แปลงหนี้เงินยืมเป็นทุนจำนวน 14,142.3 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) แปลงหนี้เงินยืมเป็นทุนจำนวน 4,078 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม กทพ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2546 และตรวจเยี่ยมกคช. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2546 เพื่อมอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน พร้อมกับมีดำริว่า กทพ. และ กคช. มีหนี้สินค่อนข้างมาก แต่ขนาดของทุนค่อนข้างต่ำ เห็นควรให้หน่วยงานทั้งสองดำเนินการขอแปลงหนี้สินในส่วนของเงินยืมรัฐบาลไปเป็นส่วนของทุน โดยหนี้นั้นควรเป็นหนี้ที่ไม่มีภาระผูกพัน
กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้จัดประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กทพ. และ กคช. ตามที่นายกรัฐมนตรีมีดำริไว้แล้ว สรุปข้อเท็จจริง และผลการหารือได้ ดังนี้
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีหนี้เงินยืมตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ รวม 4 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 21,081.4 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ที่เพิ่มขึ้น เงินยืมจำนวนดังกล่าวรัฐบาลไม่มีเงินจัดสรรให้ จึงให้ กทพ. ไปดำเนินการกู้เงินโดยการออกพันธบัตร และกู้เงินจากธนาคารออมสิน โดยแยกเป็นเงินยืมที่ กทพ. รับภาระเฉพาะดอกเบี้ยด้วยจำนวน 8,863.4 ล้านบาทโดยสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเป็นเงินยืมให้ กทพ. จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2546 เพื่อไถ่ถอนเงินต้นแล้วจำนวน 7,753.7 ล้านบาท และเพื่อจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 4,884.9 ล้านบาท รวมจำนวน 12,638.6 ล้านบาท
กทพ. มีเงินยืมจากเงินงบประมาณตามสัญญาที่ 304/2537 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 วงเงิน1,754.4 ล้านบาท สำหรับสมทบช่วยค่าก่อสร้างทางพิเศษฉลองรัช กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี นับจากวันเบิกเงินยืมงวดสุดท้าย โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ชำระคืนปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน กทพ. ได้ชำระคืนเงินยืมมาแล้ว 3 งวดเป็นเงิน 250.7 ล้านบาท คงเหลือเงินยืมจำนวน 1,503.7 ล้านบาท กทพ. จึงมีหนี้เงินยืมที่สามารถนำมาแปลงเป็นทุนได้จำนวน 14,142.3 ล้านบาท (12,638.6 + 1,50.37)
การแปลงหนี้เงินยืมเป็นทุน จะทำให้ กทพ. มีฐานะเข้มแข็งขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต กล่าวคือ มีหนี้สินลดลงและมีทุนเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้รวมต่อทรัพย์สินรวม (Debt Ratio) ลดลงจาก 0.75 เท่า เป็น 0.66 เท่า อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ลดลงจาก 2.95 เท่า เป็น 1.9 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) และอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Debt Service Coverage Ratio) เท่าเดิม อัตราส่วนผลตอบแทนสุทธิจากส่วนทุน (Return on Equity) ลดลงจาก 0.03 เท่า เป็น 0.02 เท่า ความสามารถในการหารายได้ (EBIDA) และอัตราส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนจะไม่มีผลกระทบ
สำหรับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีหนี้ที่เป็นสัญญากู้ยืมเงินงบประมาณจำนวน 2 สัญญา คือ สัญญาที่296/2535 ลงวันที่ 3 กันยายน 2535 วงเงิน 3,078 ล้านบาท และสัญญาที่ 306/2540 ลงวันที่ 15 กันยายน 2540วงเงิน 1,062.61 ล้านบาท สำหรับนำไปใช้ในโครงการตามแผนงานแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2535 - 2544) เป็นเงินยืมที่ไม่มีดอกเบี้ยกำหนดชำระคืนภายใน 12 ปีซึ่งจะเริ่มทยอยชำระคืนในปีงบประมาณ 2547 - 2552
กคช. ได้ส่งคืนเงินยืมตามสัญญาที่ 306/2540 ก่อนครบกำหนด จำนวน 62.61 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2546 เพราะยกเลิกโครงการ เนื่องจากส่งมอบสถานที่ก่อสร่างให้ผู้รับจ้างไม่ได้ จึงคงเหลือเงินยืมตามสัญญานี้จำนวน 1,000 ล้านบาท กคช. จึงมีหนี้เงินยืมที่สามารถนำมาแปลงเป็นทุนได้จำนวน 4,078 ล้านบาท (3,078 + 1,000)การแปลงหนี้เงินยืมเป็นทุน จะทำให้ กคช. มีฐานะเข้มแข็งขึ้น กล่าวคือ มีหนี้สินลดลงและมีทุนเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ลดลงจาก 7.56 เท่า เป็น 2.99 เท่า อัตราส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนจะไม่มีผลกระทบ และงบการเงินเป็นภาพที่ดีในมุมมองของสถาบันการเงิน และเอกชนที่จะทำธุรกรรมร่วมกับ กคช. ตลอดจนการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง และมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(ยังมีต่อ)
-รก-