24 ตุลาคม 2546 ครบรอบ 100 ปีเกิด หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุรุษ 5 แผ่นดิน

ข่าวทั่วไป Friday October 10, 2003 11:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สวช.
24 ตุลาคม 2546 ครบรอบ 100 ปีเกิด
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุรุษ 5 แผ่นดิน
ศิลปินแห่งชาติและปูชนียบุคคลด้านการศึกษาของไทย
วันที่ 24 ตุลาคม นอกจากจะเป็นวันสำคัญสากล "วันสหประชาชาติ" แล้ว ในปี 2546 นี้ ยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่คนไทยควรได้ระลึกถึง นั้นคือเป็น วันครบรอบ 100 ปีเกิดของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ซึ่งเป็นนักการศึกษา ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) และปูชนียบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศไทยเรา ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบด้านและสร้างสรรค์ผลงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปีเกิดของท่านในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางการศึกษา ภายใต้โรงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ประจำปี 2545-2546
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการและท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิมวสันตสิงห์) สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล (สกุลเดิมไกรฤกษ์) ไม่มีทายาท ท่านเป็นบุคคลที่มีชีวิตยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน เป็นชาวกรุงเทพฯ ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2446 ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาโดยมีครูมาสอนที่บ้านเมื่ออายุ 4 ปี ต่อมาได้เข้าเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ในสมัยยังเป็นโรงเรียนวัดราชบูรณะ) จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่ออายุ 10 ปี ในปี พ.ศ. 2457 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง บิดาของท่านได้นำเข้าถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงได้ย้ายมาเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาดเล็กรับใช้ ครั้นปี พ.ศ. 2464 ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยได้ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอนและมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาโบราณตะวันออก (ภาษาบาลี-สันสฤกต) และปริญญาโททางอักษรศาสตร์
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้หม่อมหลวงปิ่น ได้ทุนของกระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) ก็ด้วยทรงเห็นว่าบิดาของท่านคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงนี้ และตัวท่านเองต่อมาก็ได้สร้างคุณูปการต่อวงการศึกษามากมาย โดยแท้จริงแล้วหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านชอบและสนใจวิชาคณิตศาสตร์มาก และอยากเรียนต่อทางด้านนี้ แต่ทางกระทรวงธรรมการได้กำหนดให้ท่านเรียนวิชาโบราณตะวันออกคือบาลี สันสกฤต เนื่องจากช่วงนั้นมีบุคลากรทางคณิตศาสตร์เพียงพอแล้ว แต่ถึงแม้ท่านจะไม่ได้รักชอบวิชาบาลีสันสฤกตท่านก็ได้เพียรศึกษาเล่าเรียนจนได้รับเกียรตินิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและเอาแบบอย่าง
เมื่อกลับจากต่างประเทศ ท่านได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาย้ายไปเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม และยังรักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย และเป็นอธิการบดีกรมสามัญศึกษา (เดิม) เมื่อ พ.ศ. 2485-2489 และต่อมายังดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2489-2500 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 4 สมัย (พ.ศ. 2500-2512) ซึ่งในตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรมด้วย ต่อมากระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ท่านจึงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงเดียว ช่วงท่านที่เป็นปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นระยะเวลาถึง 22 ปี นอกจากนี้ท่านยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรถึง 3 สมัย (2508-2514) เป็นสมาชิกวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรถึง 3 สมัย (2508-2514) เป็นสมาชิกวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการฝ่ายการศึกษา (2512) และสมาชิกสภานิติบัญญัติ(2515)
เราจะเห็นได้ว่าชีวิตของท่านทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษามาโดยตลอด ทั้งในฐานะครูผู้ถ่ายทอดความรู้และผู้บริหารการศึกษาในตำแหน่งสำคัญที่เกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ผลงานของท่านมีมากและเป็นงานพัฒนาที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่วงการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง ผลงานหลายอย่างที่ท่านได้ริเริ่มขึ้น ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกล และสะท้อนความคิดที่ยังประโยชน์ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งหลายเรื่องเยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยได้ทราบ จึงขอยกตัวอย่างบางส่วนมานำเสนอ ดังนี้
1. เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนแรก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้เข้าศึกษาในปัจจุบัน เกิดจากนโยบายแผนการศึกษาของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2479 ที่ได้กำหนดให้ผู้เข้าเรียนต่อขั้นต่ออุดมศึกษาคือระดับมหาวิทยาลัย ต้องผ่านขั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อน 2 ปี สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีมติให้ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี พ.ศ. 2480 โดยมอบหมายให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้จัดตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งขณะนั้น ท่านเองก็ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นงานที่หนักและรับผิดชอบสูงทีเดียว โดยเฉพาะโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งนี้เป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย คือมีนักเรียนชายหญิงเรียนร่วมกันเป็นครั้งแรก อีกทั้งจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่เตรียมคนไปสู่ระดับอุดมศึกษาที่จะเป็นกำลังของชาติในวันหน้า ท่านจึงระมัดระวังในการวางระเบียบปฏิบัติอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นการเตรียมนักเรียนให้พร้อมทั้งด้านวิชาการและคุณธรรม จนเป็นที่พอใจของผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ซึ่งหากอ่านประวัติที่ท่านเขียนหรือที่ผู้อื่นเขียนถึงท่าน จะเห็นได้ว่าการตั้งโรงเรียนดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องใหม่แล้ว ยังไม่มีทั้งอาคาร งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ท่านต้องเริ่มใหม่ทุกอย่างด้วยความเสียสละและอดทนอย่างมาก ยิ่งการเรียนร่วมกันชายหญิงซึ่งปัจจุบันเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยท่านเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และท่านเองก็ถูกโจมตีจากนสพ.ไม่น้อย แต่ท่านก็ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนในระดับเดียวกันจนถึงทุกวันนี้
2. ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงจนมาเป็นมศว.ประสานมิตร โรงเรียนฝึกหัดครู ถนนประสานมิตร เป็นความริเริ่มของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาของประชาชนว่าเป็นเรื่องจำเป็น และเห็นว่าการศึกษาวิชาครูเป็นหัวใจสำคัญ จึงควรมีสถานที่ผลิตครูโดยเฉพาะเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ โดยเฉพาะการผลิตครูระดับสูง ท่านจึงริเริ่มให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่ถนนประสานมิตรในปี พ.ศ. 2492 รับนักศึกษาที่จบชั้นมัธยมศึกษาเข้าศึกษาต่อ 2 ปี โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้วุฒิป.ป. และเมื่อศึกษาต่ออีก 3 ปีก็ได้วุฒิป.ม. ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงดังกล่าวขึ้นเป็น "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" เมื่อปี พ.ศ. 2496 และปีพ.ศ. 2517 ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร หรือ มศว.ประสานมิตรในปัจจุบัน
3. จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : สถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคแห่งแรก เป็นผลงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของท่านในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการศึกษาในส่วนภูมิภาคให้เจริญทัดเทียมกับส่วนกลางในทุกด้านตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยได้เริ่มงานในปี พ.ศ.2503 และท่านได้เอาใจใส่ดำเนินการเองในหลายๆ เรื่องตั้งแต่เลือกบริเวณจัดตั้ง จัดซื้อที่ดิน ฯลฯ ซึ่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้เป็นงานที่ท่านตั้งใจทำงานและทุ่มเทให้อย่างมาก ดังนั้น ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการวางรากฐานที่ดีของท่านนั้นเอง
4. การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เป็นสถาบันอุดมศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่เกิดจากคุณูปการของท่าน ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรคนแรกอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านได้เป็นผู้จัดทำโครงการปรับปรุงและขยายมหาวิทยาลัยศิลปากรไปสู่ภูมิภาค และได้เลือกพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เป็นที่ตั้ง โดยจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะแรก และคณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาเป็นลำดับ
นอกจากผลงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและประเทศชาติอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหอวชิราวุธานุสรณ์ ให้เป็นศูนย์รวมสรรพวิทยาการและศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 และผลงานที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาอีกหลายเรื่อง เช่น
- การจัดตั้งวิทยุศึกษา และวิทยุโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่ในสมัยนั้น และเป็นประโยชน์อย่างมากแก่โรงเรียนชนบทที่ห่างไกล โครงการนี้ได้รับความชื่นชมจากองค์กรยูเนสโกว่าประเทศอื่นๆ ควรถือเป็นตัวอย่างเพราะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ประหยัด
- ห้องสมุนเสียง ท่านทำขึ้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นห้องสมุดเสียงแห่งแรกของประเทศไทย เป็นการเสริมการสอนวิชาการต่างๆ ตามหลักสูตรด้วยเสียงที่ผู้สอนต้องการและนักศึกษาก็สามารถเปิดฟังด้วยตนเองนอกเวลาเรียน นอกจากนี้ห้องสมุดนี้ ยังมีแถบเสียงแยกเป็นหมวดหมู่ถึง 6 ประเภท เช่น แถบเสียงพระราชทาน สารพันวิทยา นานาศิลปะ ฯลฯ เพื่อให้ผู้สนใจหรืออยู่ห่างไกลเปิดฟังเสียงจริงๆ ในแต่ละประเภทได้
- ปฏิทินล้านปี อันเกิดจากความสามารถและความสนใจด้านคณิตศาสตร์ของท่านแม้ท่านจะไม่ได้ศึกษาทางด้านนี้ แต่ในขณะที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดท่านก็คิดสูตรคำนวณได้ว่า วันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร ตรงกับวันอะไร ซึ่งท่านได้เล่าไว้ในประวัติว่า คงเกิดจากความฝังใจสมัยที่ท่านเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงหัดให้ท่านค้นคว้าโดยให้ท่านไปหาว่าพระนเรศวรเสด็จออกจากอยุธยาวันไหนของสัปดาห์ ก่อนชนช้างกับพระมหาอุปราชา และท่านก็หาไม่ได้ รู้เพียงว่าวันยุทธหัตถีเป็นวันจันทร์ เรื่องนี้ติดอยู่ในใจท่านมาตลอด ท่านจึงได้ค้นคว้าต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้สูตรดังกล่าวขึ้น และท่านก็ได้เปลี่ยนจากสูตรมาเป็นไม้บรรทัดเลื่อน (Slide Ruler) ถ้าหากเลื่อนไม้บรรทัดตามแนวนอน 4 ครั้ง ก็จะได้ปฏิทินของเดือนตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องคำนวณเลย ซึ่งหม่อมหลวงปิ่นได้ทำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 อัน และทำไว้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ อีก 1 อัน ปัจจุบันปฏิทินล้านปีนี้ยังอยู่ที่อาคารหอสมุด หน้าห้องอนุสรณ์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และยังใช้การได้อยู่
ในด้านวรรณศิลป์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านได้รับการอบรมปลูกฝังให้มีความรักและชื่นชมในภาษาและศิลปวัฒนธรรมของชาติมาแต่เยาว์วัย จากการที่ได้เป็นมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนานถึง 6 ปี ทำให้ท่านได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากพระองค์ท่านมากมายหลายด้าน ได้ทรงฝึกอบรมและมอบหมายหน้าที่พิเศษในการจัดเก็บบทพระราชนิพนธ์ บทละครให้หม่อมหลวงปิ่น และเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดแล้ว ก็จะพระราชทานให้อ่านก่อน อีกทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษให้แก้ไขต้นฉบับลายพระหัตถ์ได้ นอกจากนี้ยังทรงแต่งตั้งให้เป็น บรรณาธิการดุสิตสมิต ฯลฯ เมื่อรวมกับการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ทำให้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีความปราดเปรื่องในเชิงวรรณศิลป์ ท่านสามารถแต่งหนังสือได้แทบทุกประเภท มีความรู้แตกฉานลึกซึ้ง ทางด้านอักษรศาสตร์ ยังผลให้งานเขียนของท่านมีประสิทธิภาพ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างยิ่ง จะเห็นได้จากผลงานที่พิมพ์เผยแพร่กว่า 207 เรื่อง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ถึง 5 หมวด คือ หมวดการศึกษามี 57 เรื่อง หมวดบทละคร 58 เรื่อง หมวดคำประพันธ์ 32 เรื่อง หมวดการท่องเที่ยว 8 เรื่อง และหมวดเบ็ดเตล็ดอีก 52 เรื่อง ท่านได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2530 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับเกียรติคุณอีกมากมาย เช่น เป็นบุคคลดีเด่นของชาติสาขาการศึกษา ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น ได้รับรางวัลอาเซียนสาขาวรรณกรรม ฯลฯ และล่าสุดคือได้รับการยกย่องเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางการศึกษา จากองค์การยูเนสโก ในโอกาสครบรอบ 100 ปีเกิดในวันที่ 24 ตุลาคม 2546
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2538 ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบและไตวาย ขณะสิริอายุรวมได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน แม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานของท่านก็ยังคงดำรงอยู่ และที่กล่าวมาแล้วถือว่าเป็นตัวอย่างเพียงส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับผลงานอันมากมายของท่าน แต่คงทำให้เราเห็นได้ถึงความคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติไม่น้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังมีผลต่อเนื่องมายังพวกเราในปัจจุบัน และสมควรที่เยาวชนของเราจะได้ศึกษาเรียนรู้ถึงแบบอย่าง "คนดี คนเก่ง" ของไทย ที่ไม่แพ้คนชาติใดในโลก--จบ--
-กภ/รก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ