กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมแผนอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 15-18 ต.ค. อย่างใกล้ชิด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวันที่ 15- 18 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเหนือไหลมาสู่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูง และอาจมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 27 ชุมชนใน 13 เขต รวมถึง พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกทม. และถนนสายหลักที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วม เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต รามอินทรา บางกะปิ รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกทั้งหมด
สำหรับปริมาณระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 อยู่ที่ 4,943 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มจากเมื่อวาน(7ต.ค.54) 22 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ประตูระบายน้ำบางไทรอยู่ที่ 3,191 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้นอีก 41 ลบ.ม.ต่อวินาที ล่าสุดวัดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณสะพานพระราม 8 อยู่ที่ 4,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมา ระดับน้ำขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 2.03 เมตร ขณะที่คันกั้นน้ำกทม. ยังสามารถรองรับได้ที่ 2.50 ถึง 3 เมตร ทั้งนี้พื้นที่ฝั่งเหนือของกทม. ที่ติดกับจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้ได้มีการเสริมกระสอบทรายเพิ่มขึ้น พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประสานงานกับท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี เพื่อช่วยป้องกันน้ำในคลองเอ่อล้นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและหลากเข้าท่วมพื้นที่เขตดอนเมือง หลักสี่ และสายไหมแล้ว
จัดเตรียมแผนอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติม ว่า เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตจัดทำแผนอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจในการตัดสินใจในกรณีที่ต้องมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ โดยพิจารณาจากดูจากความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก อาทิ เมื่อเกิดความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของประชาชน หรือหากประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติ อาทิ การประกอบอาหาร หรือพักอาศัย หลับนอนไม่ได้ ต้องรีบประกาศให้ประชาชนรีบทำการอพยพ
โดยในเบื้องต้นได้จัดเตรียมพื้นที่ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้เป็นศูนย์อพยพ ซึ่งสำนักงานเขตทุกแห่งจะมีการจัดเตรียมแผนการอพยพโดยพิจารณาจากชุมชนที่เสี่ยงอันตรายก่อนและรายงานผลแก่คณะผู้บริหารภายใน 5 วัน
สำหรับรายละเอียดของแผนอพยพ ประกอบด้วย ขั้นตอนการอพยพทั้งทางรถยนต์และทางเรือในกรณีที่เส้นทางที่เป็นถนนไม่สามารถใช้การได้ การดูแลในช่วงที่ประชาชนต้องออกจากที่พัก การจัดเตรียมอาหาร ที่พัก และสัตว์เลี้ยงของประชาชน รวมถึงการเยียวยาฟื้นฟูทั้งด้านกายภาพและจิตใจของประชาชนภายหลังปัญหาสิ้นสุดลงแล้ว
แจ้งเหตุ สอบถามข้อมูลน้ำท่วมกทม.ผ่านทางสายด่วน 1555 และ 0 2248 5115
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมผ่านหลายช่องทาง อยากให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อถือข่าวสารต่างๆ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ในการให้ข้อมูลกับประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในกทม. ตั้งอยู่ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ทำงานตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามปัญหาน้ำท่วม รวมถึง ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนกทม. 1555 ตลอด 24 ชม. และตรวจสอบข้อมูลน้ำท่วมได้ที่หมายเลข โทรศัพท์ 0 2248 5115
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครจะได้ออกแถลงการณ์เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ต.ค.54 เป็นต้นไป