กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินไตรมาสสามของปี 2546 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ: กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9 เท่าจากปีก่อน
ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับไตรมาสสามของปี 2546 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 2,895 ล้านบาทในไตรมาส 2/2546 และเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าเมื่อเทียบกับ 355 ล้านบาทในไตรมาส 3/2545 สำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 2546 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 9,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 1,046 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "กำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นหลัก ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ที่ธนาคารได้วางไว้ โดยในภาวะที่ความต้องการสินเชื่อยังไม่มากนัก ธนาคารได้เน้นเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย รวมทั้งการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) แก่ลูกค้า ซึ่งส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การเติบโตของธุรกิจในตลาดทุนซึ่งธนาคารมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจทั้งด้านวาณิชธนกิจ ที่ปรึกษาการลงทุน นายหน้าค้าหลักทรัพย์และกองทุนรวมอย่างครบวงจร นอกจากจะทำกำไรให้กับธนาคารอย่างน่าพอใจแล้ว ยังทำให้ธนาคารอยู่ในสถานะที่ดีในการรุกธุรกิจได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย" นอกจากนี้ คุณหญิงชฎายังกล่าวว่า "ในไตรมาสนี้ ธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 ในครึ่งปีแรก เป็นร้อยละ 39 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารที่จะเพิ่มให้ได้ถึงร้อยละ 40 ในระยะเวลาอันใกล้นี้"
ในด้านนโยบายการดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า "ธนาคารได้วางนโยบายที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำบริการทางการเงินเต็มรูปแบบ หรือ Universal Banking โดยการเชื่อมโยงธุรกิจภายในกลุ่มการเงินไทยพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายการเงินที่เปิดเสรี โดยในส่วนของธนาคารเอง นโยบายดังกล่าวได้แปลงเป็นกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงธนาคาร (Change Program) ซึ่งได้เริ่มส่งผลบวกให้เห็นในงบการเงินของธนาคารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าธนาคารจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ในระยะเวลาต่อไป"
รายละเอียดผลประกอบการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่ายในไตรมาสนี้ จำนวน 4,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4,624 ล้านบาท และ 4,588 ล้านบาท ในไตรมาสที่สองของปีนี้และไตรมาสที่สามของปีก่อนตามลำดับ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ในไตรมาสนี้ยังทรงตัวที่อัตราร้อยละ 2.6 แม้ว่าในช่วงต้นไตรมาสจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ธนาคารสามารถติดตามหนี้ให้มีการชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนเงินฝากลดลงจากการครบกำหนดของบัตรเงินฝาก (NCD) ที่มีต้นทุนสูง
2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 2,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 743 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนซึ่งมีจำนวน 2,178 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักดังนี้
- กำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 310 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการปิดกองทุนที่ธนาคารลงทุนไว้ ประกอบกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บางรายการ
- รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 199 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าธรรมเนียมเงินกู้ ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต และ Bancassurance
- ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมเพิ่มขึ้น 172 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ดีของบริษัทย่อยในธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจการเงินอื่นๆ
- กำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้น 50 ล้านบาทตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณธุรกิจ
เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 775 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.1 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุนจำนวน 509 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อย/ร่วมจำนวน 189 ล้านบาท รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการจำนวน 91 ล้านบาท และรายได้อื่นจำนวน 25 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จำนวน 3,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 440 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการตั้งค่าเผื่อค่าใช้จ่ายในการขายสินทรัพย์รอการขาย 390 ล้านบาท และค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย 80 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3,243 ล้านบาทเป็น 3,278 ล้านบาท สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน (Operating cost to income ratio) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 50.0 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 48.3 ในไตรมาสนี้
เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อน ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจาก 3,810 ล้านบาท เนื่องจากในปีก่อนมีการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขายจำนวน 570 ล้านบาท
4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
ในไตรมาส 3/2546 ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 600 ล้านบาท จากการตั้งสำรองเป็นการทั่วไป (General reserve) เดือนละ 200 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 77,964 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาร้อยละ 66.4
งบดุล ณ วันที่ 30 กันยายน 2546
ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ธนาคารมียอดสินเชื่อ 491,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,160 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 จากสิ้นปี 2545 และเพิ่มขึ้น 3,418 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อขยายตัวดีขึ้นในกลุ่มลูกค้าบุคคล และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ธนาคารมียอดเงินฝาก 590,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2545 จำนวน 22,293 ล้านบาท ขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จำนวน 6,162 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 สำหรับสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารในไตรมาสนี้ ยังทรงตัวที่ร้อยละ 83 เท่ากับไตรมาสก่อน
ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 66,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2545 จำนวน 14,587 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 6,510 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน เนื่องจากกำไรสุทธิในแต่ละงวด และกำไรจากการตีราคาหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 มีจำนวน 63,531 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 13.3 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 7.7 ของสินทรัพย์เสี่ยง (ยังไม่รวมกำไรของงวด 9 เดือนจำนวน 9,204 ล้านบาท)
สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหา
ธนาคารมีสินเชื่อจัดชั้นมีปัญหาตั้งแต่ชั้นต่ำกว่ามาตรฐานลงมาซึ่งรวมดอกเบี้ยค้างรับ สินทรัพย์อื่นและเงินให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 จำนวนทั้งสิ้น 117,440 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.4 ลดลง 5,031 ล้านบาทจากจำนวน 122,471 ล้านบาท (ร้อยละ 24.7) ณ สิ้นไตรมาส 2/2546 และมีสินเชื่อด้อยคุณภาพตามคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2546 มีจำนวน 116,276 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.3 สินเชื่อจัดชั้นมีปัญหามีจำนวนลดลงส่วนหนึ่งเนื่องจากการตัดหนี้สูญและจากการแก้ปัญหาหนี้ที่มีความคืบหน้าขึ้น--จบ--
-รก-