กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ศอส.
ศอส. รายงานยังมีน้ำท่วม 30 จังหวัด เตือน 7 จังหวัดเฝ้าระวังดินถล่ม - น้ำป่าไหลหลากสั่ง กทม.แจ้งประชาชนยังควบคุมสถานการณ์น้ำได้ส่วนจังหวัดน้ำท่วมรุนแรงขอให้ประชาชนย้ายมาอยู่ศูนย์อพยพฯ
ศอส. รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยใน 30 จังหวัด พร้อมเตือน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชลุบรี ระยอง เพชรบุรี จันทบุรี และตราด เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งกำชับ กทม.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ระดับน้ำภายในเขตพื้นที่ป้องกันว่าอยู่ใน ภาวะปกติ เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มรุนแรง ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่จัดตั้งขึ้น
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และตาก รวม 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน และมีผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าจะเสียหาย บ่อปลา 125,963 บ่อ/กระชัง ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,795,064 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 217 สาย แยกเป็น ทางหลวง 59 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 158 สาย ใน 32 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอเมือง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ลุ่มน้ำมูล ที่อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอ สตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอตระการพืชผล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน จังหวัดนครสวรรค์ 4,650 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เขื่อนเจ้าพระยามปริมาณน้ำ ไหลผ่าน 3,640 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,388 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซนต์ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 101 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 133 เปอร์เซ็นต์
นายวิบูลย์ กล่าวเตือนว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่นกับ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ รวมทั้งปริมณฑล ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และเพชรบุรี ระมัดระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักในระยะ 3-4 วันนี้ ส่วนพื้นที่ที่ต้องระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี และอำเภอไทรโยค)ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา) เพชรบุรี (อำเภอหนองหญ้าปล้อง) ชลบุรี (อำเภอศรีราชา) ระยอง (อำเภอเขาชะเมา) จันทบุรี (อำเภอขลุง และอำเภอเขาคิชฌกูฏ) ตราด (อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเกาะช้าง) เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านตอนกลางของประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบางพื้นที่วัดปริมาณน้ำฝน ได้มากกว่า 100 มม. ทำให้ ดินบนภูเขาชุ่มน้ำอาจพังถล่มลงมาได้ โดยขณะนี้เริ่มมีน้ำหลากในบางพื้นที่แล้ว ขอให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม
ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับ กทม.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ระดับน้ำภายในเขตพื้นที่ป้องกันว่าอยู่ในภาวะปกติ ซึ่งสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อมิให้ประชาชนตื่นตระหนกต่อผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัย มีแนวโน้มรุนแรง ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถป้องกันได้ เข้ามาอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่จังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีความคล่องตัวมากขึ้น
0-2243-0674 0-2243-2200
www.disaster.go.th