ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงนิด เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ควบคุมเบาหวาน

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2011 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค ประเทศไทยสูญเสียประชากรด้วยโรคเบาหวานเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย เบาหวาน หนึ่งใน 10 โรคร้ายที่กำลังคุกคามชีวิตคนไทยในปัจจุบัน จากข้อมูลของ International Diabetes Federation กว่า 246 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 6% ของประชากรทั้งโลก ต้องทรมานจากโรคนี้ ทุกๆ สิบวินาที จะมีคนเสียชีวิตหนึ่งราย ทุกวันนี้ มีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงถึง 6% ของประชากรทั้งหมดที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือประมาณ 3.5 ล้านคน ที่สำคัญ ยังมีผู้ป่วยเบาหวานอีกจำนวนมากยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน หรืออยู่ในภาวะเสี่ยง และคุณอาจเป็นหนึ่งในนั้น! สำหรับประเทศไทย ในประชากร 10 คน จะมีหนึ่งคนที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตนั้น เกิดจากโรคแทรกซ้อนที่มากับเบาหวาน เช่น โรคประสาทเสื่อม เส้นเลือดเสื่อม นำไปสู่โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น เป็นแผลเรื้อรัง เท้าเน่าถูกตัดขา ไตเสีย ต้องฟอกเลือด เป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจตีบ ต้อกระจก เส้นเลือดฝอยในตาถูกทำลาย ทำให้ตาบอดในที่สุด เส้นเลือดในสมองตีบตัน โรคเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าอุดตัน เป็นต้น แม้ว่าโรคเบาหวานจัดเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด แต่เราก็สามารถควบคุมโรคเบาหวานไม่ให้กำเริบ และยังสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปรกติได้ ศาตราจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์. อาจารย์ประจำหน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์. ภาควิชาอายุรศาสตร์. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตนแก่ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ว่า สิ่งแรกๆ ที่เราสามารถทำได้เองก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย และการสร้างวินัยต่อตนเอง “การควบคุมเบาหวานนั้น เราควรจะต้องควบคุมปริมาณการบริโภคน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การลดคาร์โบไฮเดรตจะช่วยให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นด้วย นอกจากนั้นควรมีการควบคุมปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) ที่ได้รับในแต่ละวันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนในกรณีของผู้ที่มีปัญหาเรื่องความอ้วน ก็ควรใส่ใจกับการลดน้ำหนักควบคู่กันไป เพราะการลดน้ำหนักเพียงประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกภูมิใจและมีกำลังใจมากขึ้น แต่ยังช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านระบบเผาผลาญ ความดัน และระดับปริมาณน้ำตาลและไขมันอีกด้วย” ศาตราจารย์ นายแพทย์สุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า เราควรต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายของแต่ละคนในแต่ละวัน และต้องทำความเข้าใจว่าคาร์โบไฮเดรตมีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง เช่น หลายคนเข้าใจผิดว่าคาร์โบไฮเดรตมีอยู่ในข้าวเท่านั้น ทำให้มีการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตประเภทอื่นเข้าไปเพิ่มอีก เช่น ขนมปัง ผักประเภทฟักทอง มันฝรั่ง เป็นต้น “ร่างกายของคนเรานั้นแตกต่างกัน ทำให้เรามีความต้องการคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน สำหรับการคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้อ ผู้เป็นเบาหวานควรปรึกษานักกำหนดอาหารหรือพยาบาลผู้ให้ความรู้เรื่องเบาหวานถึงปริมาณสัดส่วนของอาหาร เพื่อนำมาใช้ในแบบแผนการรับประทานสำหรับแต่ละบุคคล ทว่าเราก็สามารถคิดแบบง่ายๆ ได้ด้วยการดูว่าปริมาณข้าวและแป้งที่เราบริโภคเข้าไป ทำให้เราน้ำหนักขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ ก็แสดงว่าเราบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมากเกินไป” นอกจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแล้ว ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรต้องบริโภคอาหารที่ให้สารอาหารครบห้าหมู่ด้วย โดยควรเลือกบริโภคอาหารประเภท ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ผลไม้ นม ผัก ล้วนเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ ที่ร่างกายต้องการทั้งสิ้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่ทุกๆ คนควรเลือกบริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ยังควรบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากสารอาหารจากหมวดต่างๆ แล้ว ผู้ป่วยเบาหวานอาจเลือกรับประทานอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นอาหารทางการแพทย์ที่มีสารอาหารครบถ้วนเพื่อทดแทนอาหารบางมื้อได้ และเพื่อให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากไม่ทราบว่าจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือจะควบคุมโรคเบาหวานได้อย่างไร สามารถสอบถามได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร 0-2252-2448 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.DCFL.in.th ซึ่งมีการจัดโปรแกรมที่จะช่วยให้คุณจัดการกับเบาหวานทีละขั้นตอนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังเป็นแหล่งข้อมูล สำหรับศึกษาหาความรู้ เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี อย่างคนปกติทั่วไปอีกด้วย ใครบ้างที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน 1. เส้นรอบเอวเกิน 90 เซ็นติเมตร (ในผู้ชาย) และเกิน 80 เซ็นติเมตร (ในผู้หญิง) 2. เคยมีประวัติความดันโลหิตสูง 3. ประวัติเบาหวานในญาติพี่น้อง หรือทางกรรมพันธุ์ 4. ปัสสาวะ และดื่มน้ำบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน 5. การมีตกขาวมากผิดปรกติในผู้หญิง หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ