กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--PR NETWORK
จากความสำเร็จของโครงการส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สังคมยอมรับอย่างยั่งยืน (CSR-DIW 2551- 2554) เทียบชั้น ISO 26000: 2010 Social Responsibility (มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบ) ที่จัดโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับโล่และเกียรติบัตรแล้วรวม 321 แห่ง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงต่อยอดจัดทำ โครงการส่งเสริมสถานประกอบการรวมพลังสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสุขอย่างยั่งยืน (CSR-DIW Network 2554 ) เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่าย CSR-DIW Network ขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างรูปแบบความร่วมมือที่ใช้ศักยภาพของแต่ละองค์กรร่วมกัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้การดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ขยายผลความร่วมมือในระดับเครือข่าย และทำกิจกรรมในลักษณะจิตอาสา ก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกที่เป็นรูปธรรมโดยใช้เวลา และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ในการดำเนินการขยายผลไปยังหน่วยงานในห่วงโซ่อุปทาน ของตนต่อไป
สำหรับในปี 2554 กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดพิธีการมอบโล่ และเกียรติบัตรแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 รางวัล ได้แก่
รางวัล CSR-DIW Continuous Awards สำหรับโรงงานที่ได้รับเกียรติบัตรและโล่ CSR-DIW ปี 2551-2553 มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีโรงงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 139 โรงงาน ซึ่งนำเสนอโครงการเพื่อสังคมได้อย่างหลากหลาย เช่น บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการอู่ต่อเรือที่เกาะช้าง ได้สานต่อโครงการโรงเรียนในฝัน 1 อำเภอ 1 โรงเรียน กับโรงเรียนวัดสลักเพชร ด้วยการฝึกอบรมให้นักเรียนผลิตสินค้าหัตถกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ และรับซื้อเป็นของที่ระลึกแจกลูกค้าทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่รู้จัก และได้รับรางวัลเหรียญเงินการประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุเหลือใช้งานศิลปะหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ
รางวัล CSR-DIW in Supply Chain Awards ซึ่งต้องเป็นโรงงานที่มีความพร้อม และสามารถเชิญชวนองค์กรในห่วงโซ่อุปทานหรือคู่ค้าอย่างน้อย 2 ราย (องค์กรคู่ค้าที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการ CSR-DIW) ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักสูตรที่กำหนด ได้แก่ โรงงานมิตรภูเวียง จ.ขอนแก่น โรงงานผลิตน้ำตาล ได้ทำโครงการพัฒนาการผลิตปุ๋ย จากกากหม้อกรอง ซึ่งเป็น By Product จากการผลิตน้ำตาล ให้กับเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบอ้อยป้อนโรงงาน โดยการเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และร่วมพัฒนาปุ๋ยจากกากหม้อกรอง ผลที่ได้รับคือนอกจากทางโรงงานจะได้อ้อยที่ปราศจากปุ๋ยเคมีแล้ว ปุ๋ยที่ได้จากกากหม้อกรองยังทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่มากขึ้นอีกด้วย เป็นการนำของเหลือใช้ของโรงงานมาต่อยอดเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของตนด้วย ซึ่งในปีนี้มีโรงงานที่ได้รับรางวัลในฐานะการเป็นพี่เลี้ยงจำนวน 11 แห่ง และองค์กรคู่ค้าจำนวน 22 แห่ง
รางวัลสุดท้าย รางวัล CSR-DIW Network Awards บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่าย CSR-DIW ที่ร่วมมือกันจัดทำแผนงาน / โครงการด้านการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชนเป้าหมาย โดยใช้ศักยภาพของบริษัทสมาชิกเครือข่าย CSR-DIW ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันในลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน อาทิ บริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และบริษัท ซีอาร์ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักร ร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนาร่วมกับชุมชน “รีดง่ายๆ รายได้เพิ่ม เพื่อชุมชนคนทำสวนยางฮิ” กับชาวบ้านตำบลหนองละลอก 11 หมู่บ้าน อำเภอบ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเริ่มจากกิจกรรม การสานเสวนา นำวัสดุเหลือใช้มาทำเครืองรีดยางให้เกิดประโยชน์กับชุมชน และจัดค่ายฝึกอาชีพพัฒนาทักษะความรู้ในการผลิตเครื่องรีดยางแก่นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย ระหว่างดำเนินการยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัท นักเรียน อาจารย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านค่ายและเกษตรกรในชุมชนตลอดจนเพิ่มรายได้และเกิดการรวมกลุ่มยางพาราอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมาย 1เครื่อง 1 ตำบล เป็นต้น โดยในปีนี้มีโรงงานที่ได้รับรางวัลนี้จำนวน 34 โรงงาน
โรงงานที่ได้รับรางวัล สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ศักยภาพที่ตนมีอยู่ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน บุคคล และ องค์กรที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ผลจากการดำเนินการนี้ ทำให้เกิดแผนงานร่วมกับชุมชน กว่า 300 แผนงาน ตามกรอบแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะทำให้สถานประกอบการกับชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมกับส่งเสริมให้มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางสากล Global Reporting Initiative (GRI) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เกิดรูปแบบการทำประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกขนาดองค์กร ประเภทธุรกิจ หรือแม้แต่ระยะทางใกล้ไกลในการเข้าดำเนินการในพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้นยังสามารถคำนวนผลตอบแทนการลงทุนด้านสังคม (Social return on investment : SROI) ได้ ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้หมายถึง ประเทศไทยได้เกิดเครือข่าย CSR ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งพร้อมจะเดินไปสู่ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)” นายอาทิตย์ กล่าวปิดท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ชุมชน CSR ผ่าน Social Network ได้ที่ เว็ปไซด์ www.csrdiwnetwork.com และทาง Facebook/csrdiwnetwork หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โทร. 0-2617-1727 ต่อ 811-815