กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
ฝนตกทุกเย็นราวกับนัดเวลา เช้ามาก็แดดแจ๋ บ่ายๆ ครึ้มมาอีกแล้ว อากาศเปลี่ยนบ่อยอย่างนี้ หันไปทางไหนก็มีแต่คนไอ จาม เป็นไข้หวัด เราจะรับมือหรือป้องกันอย่างไรไม่ให้ไข้หวัดมาเยือนได้ง่ายๆ
ภก. วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. อธิบายว่า หวัดหรือไข้หวัด มักเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ เชื้อเหล่านี้มีอยู่เป็นร้อยๆ ชนิดทั่วไปในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ยิ่งวันไหนท้องฟ้ามืดครึ้ม ลมแรง ก็จะยิ่งพัดไวรัสให้ฟุ้งกระจาย โอกาสที่เราจะสัมผัสไวรัสก็มีมากขึ้น
คนที่เป็นหวัดมักมีอาการเป็นไข้ คัดจมูกน้ำมูกไหล ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บคอ ไอ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผอ. วินิตแนะนำว่า หากอาการไม่รุนแรง ในเบื้องต้นไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง ให้พักผ่อน ให้มาก ทำร่างกายให้อบอุ่น ส่วนใหญ่อาการก็จะทุเลาได้เอง
“แต่ถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลมากๆ จนกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือการงาน ก็อาจสามารถรับประทานยาแก้หวัดคัดจมูกโดยขอคำแนะนำจากเภสัชกรที่ร้านขายยาได้ ตัวยาที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหล มักเป็นยาสูตรที่มีตัวยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบ แต่หลายปีที่ผ่านมา สารซูโดอีเฟดรีนในยาบรรเทาหวัดคัดจมูกมีปัญหาการกว้านซื้อเพื่อนำไปแยกเป็นสารตั้งต้นผลิตสารเสพติด
เพื่อป้องกันการนำสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศเมื่อ 16 กันยายน 2554 นี้ ให้ยาบรรเทาหวัดคัดจมูกที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนประกอบในรุปแบบยาเม็ด แคปซูล และน้ำ ยกเว้นตำรับยาผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องให้แพทย์สั่งจ่าย และให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาสำหรับบรรเทาอาการหวัดทาง อย. ได้แนะนำให้ใช้ยาตัวอื่นแทน เช่น ยาผสมที่มีตัวยา เฟนิลเอฟริน (Phenylephrine) แทนซึ่งมีสรรพคุณที่ใช้แทนได้” ผอ. วินิตกล่าว
แต่สำหรับยาสูตรผสมที่มีซูโดอีเฟดรีนที่ยังสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา จะเป็นยาแก้ไข้หวัดสูตรที่มีสารประกอบ 3 ตัวในเม็ดเดียวเช่น ซูโดอีเฟดรีน กับ คลอเฟนิรามีน และ พาราเซตามอล เช่น ที่อาจคุ้นเคยในชื่อทางการค้า ตัวอย่าง ไทลีนอล โคล, ดีคอลเจนพลัส, ทิฟฟี่ ฟู, เป็นต้น ยาเหล่านี้เท่านั้นที่ไม่ได้เข้าข่ายยาควบคุมพิเศษ ยาสูตรที่มีสารประกอบ 3 ตัวในเม็ดเดียวกันนี้ มีส่วนผสมของยาลดไข้อยู่ด้วย จึงเหมาะกับคนที่มีไข้ร่วมกับอาการหวัดคัดจมูก แต่ถ้าไม่มีไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทาน เพราะร่างกายจะได้รับยาลดไข้โดยไม่จำเป็น” ผอ. วินิตกล่าวเสริม
ใครที่มีอาการไอร่วมด้วย ก็อาจรับประทานยาบรรเทาอาการไอ หรือยาขับเสมหะช่วยด้วย ยาในกลุ่มนี้ผู้บริโภคก็ควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรอีกครั้ง
“ที่สำคัญคือต้องคอยสังเกตอาการ ถ้าไข้สูง ไข้ไม่ลด ไอนานติดต่อกันหลายวัน เสมหะข้น มีสีเขียว แสดงว่าอาจมีสาเหตุอื่นหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ามีอาการอย่างนี้ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะถ้ารักษาไม่ถูกต้อง อาการจะยิ่งหนักมากขึ้น หรือบางคนอาจแพ้ยาบางชนิด เช่น อะม็อกซีซิลินหรือแอมพลิซิลินได้” ผอ. วินิต แนะนำ
“การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหวัดก็คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่สมดุล และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสามารถต้านทานเชื้อหวัดได้ พยายามเลี่ยงอย่าให้เปียกฝน หรือตัวชื้นอยู่นานๆ อย่าให้ร่างกายกระทบร้อนกระทบเย็นบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก และเมื่อป่วยก็ควรหยุดงาน หยุดเรียน พักผ่อนให้หาย ปิดปากปิดจมูกเวลาต้องอยู่ใกล้ผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ อย่าให้ตนเองกลายเป็นพาหะนำโรคไปแพร่ให้คนอื่น เราก็จะหยุดวงจรหวัดระบาดได้ในที่สุด” ผอ. วินิต กล่าวปิดท้าย
วิธีป้องกันไม่ให้เราเป็นหวัดในหน้าฝน
1. ให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูกกันไว้หากต้องตากฝนจริงๆ
2. เมื่อกลับมาบ้านแล้วควร รีบเช็ดผมให้แห้ง ถ้าสระผมได้ยิ่งดี จากนั้นรีบเช็ดและเป่าให้แห้งโดยเร็ว เพื่อทำให้อุณหภูมิเปลี่ยน และเชื้อไวรัสจะแบ่งตัวได้ลำบาก
3. รีบทำให้ร่างกายอบอุ่น
4. รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ๆ เช่น ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล หรือรับประทานวิตามินซีเม็ด เพื่อช่วยเสริมสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไปและต้องไม่ลืมออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5. กรณีที่ดูแลตัวเองอย่างดีแล้วแต่ก็ยังเป็นหวัด ควรปรึกษาเภสัชกรในการเลือกซื้อและใช้ยาให้เหมาะกับอาการตามความจำเป็น