เปิดโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นำร่อง 4 แห่ง

ข่าวทั่วไป Monday November 24, 2003 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.46 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร โดยมี นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม ร่วมแถลงข่าว
ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์แห่งใหญ่ เป็นแหล่งสะสมเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันหลากหลาย สำนักสวัสดิการสังคมเห็นว่าควรมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นในกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น เผยแพร่แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศซึ่งสอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครในการพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งวัฒนธรรม โดยกำหนดแผนดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 แห่ง ใน 50 พื้นที่สำนักงานเขต ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2549 ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแล้วในพื้นที่ 4 สำนักงานเขต ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางกอกน้อย จัดตั้งที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม 2.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตสัมพันธวงศ์ จัดตั้งที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ถนนเจริญกรุง 3.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางรัก จัดตั้งที่บ้านพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง 4.พิพิธภัณพ์ท้องถิ่นเขตบางขุนเทียน จัดตั้งที่โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าว จะเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้น ๆ และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในครั้งนี้ ทั้งนี้ในปี 2547 กทม.ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีก 23 แห่ง และจะดำเนินการจัดตั้งให้ครบทั้ง 50 เขต ภายในปี 2549
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ให้เหมาะสมกับสังคมไทย รวมทั้งจัด กิจกรรมทางวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่กับสังคมไทยและประเทศชาติ ในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการยอมรับและได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของแต่ละพื้นที่แล้ว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังเป็นสถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดให้แก่ชนรุ่นหลัง เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา การพัฒนาชุมชน สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการหวงแหนท้องถิ่นที่อยู่อาศัย เสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้นด้วย
ภายหลังการแถลงข่าว ได้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคลผู้มอบพื้นที่เพื่อการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นำร่อง 4 เขต ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณารามวิทยานิคม เขตบางกอกน้อย, เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์, อาจารย์วราพร สุรวดี จากพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เขตบางรัก และผู้อำนวยการโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์เขตบางขุนเทียน--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ