“ไมโครอะเรย์”เทคโนโลยีฟื้นชีพสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Thursday October 13, 2011 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2554 นักวิจัยไบโอเทค ใช้เทคโนโลยีไมโครอะเรย์ พัฒนาชุดตรวจก่อโรคในอาหารและในเมล็ดพันธุ์ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลาและแรงงานในการตรวจ และเพิ่มความเชื่อมั่นกับสินค้าส่งออกที่มาจากประเทศไทยในตลาดโลก พร้อมใช้ดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ของกุ้งกุลาดำมาใช้ฟื้นฟูและปรับปรุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงและส่งออกกุ้งกุลาดำได้อย่างยั่งยืน เทคโนโลยีไมโครอะเรย์ (Microarry Technology) คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ เนื่องจาก “ไมโครอะเรย์”เป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบตัวอย่างหลายๆตัวอย่างในเวลาเดียวกัน แทนที่จะศึกษาทีละตัวอย่างซึ่งสามารถช่วยลดเวลาในการศึกษาให้เร็วขึ้นและได้ข้อมูลที่มากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาดีเอ็นเอของยีน ซึ่งเป็น เทคนิคที่สําคัญในการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ จึงได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็น “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2554” ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดผยว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร (Microarray Laboratory) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ Biotech พัฒนาศักยภาพการผลิตไมโครอะเรย์ในประเทศไทย เพื่อให้มีราคาถูกลง ซึ่งสามารถตอบโจทย์วิจัยที่สนองนโยบายของชาติ และประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ภาคอุตสาหกรรมใช้งานได้จริง โดยผลงานล่าสุดคือการนำเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ มาใช้ในการวิจัยปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ “งานวิจัยที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นในการนำเทคโนโลยีไมโครอะเรย์มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งผลงานที่ทำล่าสุดคือ การนำเทคโนโลยีด้านดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ มาใช้ในการวิจัยปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย หลังจากอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งกุลาดำประสบปัญหาโรคระบาดในกุ้ง มีความไม่สมบูรณ์พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์กุ้ง และกุ้งมีขนาดแคระแกร็น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกกุ้งกุลาดำไปยังต่างประเทศ” ทั้งนี้ แผ่นไมโครอะเรย์ที่ผลิตขึ้น ผู้วิจัยสามารถนำยีนที่ต้องการวิจัยนับพันยีนมา spot ลงบน glass slide ได้พร้อมๆ กัน ซึ่งเรียกว่า DNA chip แล้วนำแผ่น DNA chip ไปใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนในกุ้งกุลาดำ เช่น นำแผ่น DNA chip ไปเปรียบเทียบกุ้งที่เจริญพันธุ์กับกุ้งที่ไม่เจริญพันธุ์ เพื่อดูว่ามียีนอะไรที่แสดงออกต่างกัน เมื่อทราบยีนเหล่านั้นแล้ว จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจากต้นตอได้ เช่น การให้อาหารกระตุ้นยีน หรือจัดสภาวะเลี้ยงให้ถูกต้อง เป็นต้น โดยผ่านห้องปฏิบัติการแบบครบวงจรที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ดร.นิศรา กล่าวถึงการต่อยอดงานวิจัยจากเทคโนโลยีไมโครอะเรย์ ว่าได้มีการนำ DNA chip พัฒนาเป็นชุดตรวจกลุ่มแบคทีเรียในอาหาร เช่น แหนมเพื่อหาเชื้อก่อโรคในอาหารและช่วยในการพัฒนา starter culture สำหรับการหมักหรือการนำ DNA chip ไปค้นหากลุ่มแบคทีเรียในลำไส้กุ้ง เพื่อหากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและการต้านทานโรคของกุ้ง (probiotics for shrimp) ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว “เทคโนโลยีไมโครอะเรย์สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้มากมาย โดยเฉพาะการมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการเกษตร เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การนำแอนติบอดีอะเรย์ไปใช้เป็นชุดตรวจก่อโรคในอาหารและในเมล็ดพันธุ์จะสามารถลดค่าใช้จ่าย ระยะเวลาและแรงงานในการตรวจ และเพิ่มความเชื่อมั่นกับสินค้าส่งออกที่มาจากประเทศไทยในตลาดโลกได้อีกด้วย ส่วนในการนำดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ของกุ้งกุลาดำนั้นจะสามารถเพิ่มองค์ความรู้ทางชีววิทยาในกุ้งกุลาดำได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เราสามารถฟื้นฟูและปรับปรุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงและส่งออกกุ้งกุลาดำได้อย่างยั่งยืนด้วย” งานในวงการวิทยาศาสตร์หลายชิ้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้เป็นอย่างมาก แต่การขับเคลื่อนกระบวนการวิจัยต้องใช้เวลา เพระฉะนั้นการที่ตนมีโอกาสได้สร้างผลประโยชน์จากงานวิจัยกลับไปสู่ประชาชน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ คือการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการต่อยอดความรู้ให้กับเยาวชนในสังคมให้รู้ถึงผลประโยชน์อันสูงสุดของวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทยที่เกี่ยวเนื่องในการผลิตและการส่งออกในอนาคต มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ