กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สกว.
สกว.ประกาศ 19 งานวิจัยเด่นประจำปี 46
ชูผลงานสร้างความรู้เพื่อการพัฒนา
จาก"ชาวบ้านทำวิจัย"ถึง"นโยบายประเทศ"
สกว.ชู 19 โครงการและงานวิจัยเด่นประจำปี 2546 เป็นผลงานวิจัยสร้างองค์ความรู้จนถึงใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การจัดการสารเคมีในกระแสโลก,จากการประเมินผลทูตซีอีโอ สู่การพัฒนาระบบบริหารราชการไทยในต่างประเทศ,ศูนย์เตือนภัยน้ำท่วม,การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนวใหม่ จากงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4 ภาค,เทคโนโลยีเครื่องอบลดความชื้นข้าวทางเลือกเพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทยสู่เวทีโลก,ความปลอดภัยด้านอาหาร จุดเริ่มต้นที่"ลูกชิ้น",ยางพลังงานต่ำ เทคนิคเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย,การจัดการโรคพิษสุนัขบ้าครบวงจร ,การพบกลไกช่วยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกฉีดครั้งเดียวฆ่าไวรัสต้นเหตุ 4 สายพันธ์ เป็นต้น พร้อมยกย่องผลงานชาวบ้านทำวิจัย ตัวอย่างชุมชนสร้างความรู้เพื่อการพัฒนา เช่น การจัดการหนี้ของชุมชนบ้านสามขา,กระเทียมปลอดสารบ้านแม่สุริน,"บ้านวังอ้อ"การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน,กริชรามัน ของดีที่ไม่ใช่แค่อาวุธ,การจัดการน้ำของชุมชนบ้านแพรกหนามแดง การยุติความขัดแย้ง 20 ปี เป็นต้น
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. แถลงข่าวประกาศผลการคัดเลือกโครงการและงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2546 ว่า ในปีนี้ สกว.ได้คัดเลือกโครงการและงานวิจัยที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น โดยผลงานได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับนโยบายและปฎิบัติ ประกอบด้วย 19 โครงการและงานวิจัยเด่น โดยการพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ 10 โครงการและงานวิจัยเด่น สกว. กับ 9 งานวิจัยเด่น "ชาวบ้านทำวิจัย" เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานสร้างองค์ความรู้และใช้ความรู้ในการพัฒนาในทุกระดับ อันเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินงานของ สกว.มาโดยตลอด
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะวัติ กล่าวว่า สกว.ได้ทำการคัดเลือกโครงการและงานวิจัยเด่นมาตั้งแต่ปี 2544 และปฎิบัติต่อมาเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการแถลงข่าวราวเดือนธันวาคมของทุกปี สำหรับ 19 โครงการและงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2546 มีรายละเอียดดังนี้
"10 โครงการและงานวิจัยเด่น สกว." เป็นโครงการหรืองานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการสร้างและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือก่อให้เกิดพลังในการสร้างและใช้ความรู้ในวงกว้างออกไป ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ได้แก่
1) โครงการวิจัยการพัฒนาระบบบริหารราชการไทยในต่างประเทศ (ทูต CEO) มี รศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร.) เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการนี้สามารถเป็นรากฐานแก่การขยายผลการพัฒนาระบบบริหารไทยในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกับการบริหารราชการไทย เพื่อตอบสนองเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีโลกต่อไป ผลของงานวิจัยนี้หลายประการถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบการบริหาราชการในต่างประเทศ
2) "การสร้างระบบ HACCP สำหรับโรงงานทำลูกชิ้น" มี ผศ.ดร.เศรษฐศิลป์ อัมมวรรธน์ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตลำปาง เป็นตัวอย่างของการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ให้กับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปประเภท"ลูกชิ้น"ในจังหวัดลำปาง ซึ่งยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนมากก่อน ผลของงานวิจัยทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความใส่ใจและเชื่อมั่นในคุณภาพความปลอดภัยของอาหารประเภทนี้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็ตื่นตัวมากขึ้น
3) การจัดการสารเคมีในกระแสโลก มี รศ.ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา และน.ส.วรรณี พฤฒิถาวร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ ชุดโครงการวิจัยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและผลงานวิจัยทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างในเรื่องการจัดการสารเคมีของประเทศไทยเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำผลงานวิจัยบางส่วนไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านการจัดการสารเคมี อีกทั้งผลงานวิจัยยังแสดงถึงความพยายามของประเทศไทยในการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัยซึ่งประเทศอื่นอาจใช้เป็นแนวทางไปขยายผลต่อ และยังแสดงถึงความจริงจังที่ไทยได้ปฎิบัติตามพันธะกรณีในการลดการใช้สารทำลายชั้นโอโซนและอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ผลงานวิจัยนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับเสนอแนะต่อที่ประชุมนานาชาติ Intergovernmental Forum on Chemical Safety Forum IV (IFCS Fourm IV) ซึ่งมีบทบาทในการจัดการสารเคมีระหว่างประเทศอีกด้วย
4) "การหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและปริมาณน้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" มี รศ.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผลงานวิจัยนำไปสู่การจัดตั้ง "ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ หรือศูนย์เตือนภัยน้ำท่วม" ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมป้องกัน/แก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยปัจจุบันสามารถทำนายล่วงหน้าได้ถึง 4 วัน และกำลังขยายผลงานวิจัยเพื่อให้สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 9-10 วันในอนาคต
5) ชุดโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4 ภาค เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนวใหม่ที่มุ่งเน้นการศึกษา"ประวัติศาสตร์ของสังคมท้องถิ่น" ที่เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากความเปลี่ยนแปลงภายในของสังคมท้องถิ่นเอง โดยการทำงานร่วมกันของนักวิจัยหลากหลายสาขาวิชา รวมทั้งเป็นกระบวนการศึกษาที่ชาวบ้านในสังคมท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมงานวิจัยอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพที่สลับซับซ้อนในความเปลี่ยนแปลงมิติต่าง ๆ ของสังคมท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน ผลของงานวิจัยก่อประโยชน์ต่อสังคมท้องถิ่นหลายประการ อาทิ การคืนความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาร่วมกัน เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดสำนึกร่วมที่ใช้ความรู้เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์"อนาคต"ร่วมกัน และเปลี่ยนแปลงการรับรู้ตนเองว่าไม่ได้เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาแต่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีพลังและความสำคัญในกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ของคนในท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่อการทำให้รัฐและสังคมภายนอกเริ่มมองท้องถิ่นแต่ละแห่งว่ามีลักษณะเฉพาะ มีตัวตน มีพัฒนาการและทุนเดิมของตนและมีพลังอยู่ภายในท้องถิ่น ทำให้ยอมรับความหลากหลายของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น อีกทั้งในแวดวงการศึกษาก็เกิดความตืนตัวมีการนำไปสู่การปรับแนวทางและหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในท้องถิ่น ทั้งในวิชาประวัติศาสตร์และการทำหลักสุตรท้องถิ่น/หลักสูตรสถานศึกษา
6) ขี้เลื่อยผสมพีวีซี วัสดุทางเลือกในอุตสาหกรรมใหม่ จากงานวิจัย"การผลิตและทดสอบวัสดุผสมพีวีซีกับขี้เลื่อยในกระบวนการอัดรีด" โดย รศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชนในการทำให้ขี้เลื่อยไม้เหลือทิ้งกลายเป็นวัสดุทดแทนไม้ที่มีคุณภาพดี ราคาถูก เป็นทางเลือกใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหโครงสร้างต่าง ๆ ปัจจุบันสามารถผลิตวัสดุที่ใช้แทนไม้ในการก่อสร้างบ้านได้
7) การผลิตยางโมเลกุลต่ำ จากงานวิจัย"การปรับสภาพยางธรรมชาติเพื่อลดพลังงานที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง" มีดร.อรสา ภัทรไพบูลย์ชัย จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งผลของงานวิจัยจะทำให้ยางแผ่นธรรมชาติมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยางสังเคราะห์และสามารถเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเหมาะสมในการแปรรูปซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไทย เช่น การทำผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อชุมชน ซึ่งมีการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนแล้ว
8) การพัฒนาเครื่องอบลดความชื้นข้าวแบบฟลูอิไดซ์-เบด โดย ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ จากคณะพลังงานและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ เป็นการพัฒนาเครื่องอบลดความชื้นข้าวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยสามารถลดความชื้นข้าวได้ถึงชั่วโมงละ 20 ตันข้าวเปลือก ทำให้ข้าวเปลือกไม่เสียหายจากการอบลดความชื้นไม่ทันจากการใช้เครื่องอบลดความชื้นแบบเดิม ผลงานวิจัยยังต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาเตาเผาแกลบแบบไซโคลนซึ่งเป้นการนำแกลบที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในโรงสีข้าวมาใช้เผาเป็นลมร้อนเพื่อป้อนให้กับเครื่องลดความชื้นแบบฟลูอิไดซ์-เบด แทนการใช้น้ำมันดีเซล ทำให้สามารถประหยัดน้ำมันได้วันละหลายหมื่นบาท และเครื่องนี้กำลังได้รับความนิยมจากภาคเอกชนโดยมีการสั่งซื้อไปใช้แล้วกว่า 400 เครื่อง ทั้งโรงสีในประเทศและต่างประเทศ และสืบเนื่องจากงานวิจัยนี้องค์กรยูเนสโกได้มอบรางวัล UNESCO Science Prize ประจำปี 2003 ให้กับนักวิจัยคือ ศ.ดร.สมชาติ และนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลระดับโลกนี้
9) การศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าแบบครบวงจร มี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลจากการศึกษาทำให้ภาครัฐได้ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการวางแผนควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แพร่มายังคนได้อย่างเป็นระบบ โดยงานวิจัยทำให้ทราบว่าเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสามารถตรวจพบได้ไม่น้อยกว่า 222 วัน โดยการป้ายเนื้อสมองบนกระดาษกรองวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง และวิธีการนี้องค์การอนามัยโลกจะทำการแนะนำไปใช้ทั่วโลก อีกทั้งการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สมองแม่เหล็กไฟฟ้าพบว่าโรคพิษสุนัขบ้ามีลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ แต่การศึกษาเกี่ยวกับพาหะนำโรคพบว่า"ค้างคาว"อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้ในอนาคต เนื่องจากพบว่า 4%ของค้างคาวในประเทศไทยมีหลักฐานการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า การสัมผัสสัตว์ชนิดนี้จึงต้องระมัดระวัง
10) "การพบกลไกการเกิดโรคไข้เลือดออก" โดย น.ส.วันวิสาข์ เดชนิรัติศัย นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก(คปก.) จากภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ม.มหิดล เป็นการค้นพบว่าในร่างกายผู้ป่วยไข้เลือดออกจะผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันจำนวนมากที่มีความสามารถในการทำลายเชื้อที่พบมาก่อนในอดีตสูง แต่มีการตอบสนองทำลายเชื้อที่เข้ามาใหม่ต่ำ และยังมีผลเพิ่มจำนวนไวรัสสูงชักนำไปสู่การเกิดโรคไข้เลือดออก ที่สำคัญยังพบว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันเกิดการตายแบบทำลายตนเองทำให้เกิดความรุนแรงในการเกิดโรคมากยิ่งขึ้น จากการค้นพบกลไกครั้งนี้นับเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งในการนำไปใช้พัฒนาและทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสทั้ง 4 สายพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้จากการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว
สำหรับ "9 งานวิจัยเด่น ชาวบ้านทำวิจัย" นั้น หลังจากที่ สกว.ได้ดำเนินการสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการใช้กระบวนการวิจัยไปกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดพลังในการคิด/ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาร่วมของท้องถิ่น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 ซึ่งผลการดำเนินงานถึงเดือนกันยายน 2546 ได้มีการสนับสนุนชุมชนชาวบ้านทำวิจัยไปแล้วจำนวน 380 โครงการ โดยมีหน่วยประสานงานของพี่เลี้ยงกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ 40 หน่วย
ดังนั้นในปีนี้จึงทำการคัดเลือกงานวิจัยชาวบ้านที่มีผลการดำเนินงานปรากฎชัดเจน คือ ชุมชนสามารถคิดและวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ สามารถใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมทั้งมีการขยายผลสู่กลุ่ม เครือข่าย และชุมชนอื่นๆ ได้แก่
1) โครงการการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะการทำกริชรามัน หรือ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำ"กริชรามัน"ของ กลุ่มทำกริชบ้านบาลูกาลูว๊ะ หมู่ 2 ต.ตะโล๊ะหะลอ อ.รามันห์ จ.ยะลา ที่พยายามหาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญากริชรามันของชุมชนให้คงอยู่สืบไป โดยการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือและสืบทอดศิลปะการทำกริชสู่ลูกหลานกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิปัญญาการทำ"กริชรามัน"ได้รับการฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป ยังพบแนวทางในการสร้างอาชีพด้วยการทำกริชเป็นของที่ระลึก และเป็นของดีของท้องถิ่นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญา"กริชรามัน" อีกทั้งยังพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ
2) โครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม หรือ "การจัดการน้ำของชุมชนแพรกหนามแดง ซึ่งกระบวนการวิจัยได้ช่วยไปช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็มเรื่องการเปิด-ปิดประตูน้ำ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยการจัดเวทีให้ชาวบ้านได้มาพูดคุยกันหลาย ๆ ครั้ง และหยิบยกประเด็นในการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหาทางรูปแบบการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน จนทำให้ชาวบ้านมองเห็นปัญหาชัดเจนและหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออก จนในที่สุดได้ร่วมกันคิดค้นรูปแบบประตูระบายน้ำแบบใหม่บนฐานภูมิปัญญาชุมชน ข้อมูล และแนวทางของชาวบ้าน นำไปสู่การประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของชุมชนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัด จนสามารถสร้างประตูระบายน้ำแบบใหม่ทดแทนประตูแบบเดิมถึง 2 ประตู เพื่อทดลองพิสูจน์ ซึ่งพบว่าประตูระบายน้ำแบบใหม่ทำงานอย่างได้ผล และส่งผลให้คุณภาพของน้ำดีขึ้น ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนแพรกหนามแดงได้รับความสนใจจาก หน่วยงานต่างๆ เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และได้รับการหยิบยกขึ้นเป็นกรณีตัวอย่างในเวทีภูมิปัญญากับการจัดการระบบนิเวศปากแม่น้ำ ที่จัดขึ้นเพื่อทบทวนการจัดระบบนิเวศน์ปากแม่น้ำของรัฐซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่สำคัญยิ่งคือ กระบวนการวิจัยช่วยพัฒนากระบวนการคิดแก้ไขปัญหาร่วมกันของชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่นๆ เช่น การพัฒนาระบบการบริหารจัดการระบบกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ การพัฒนาระบบการจัดการแหล่งศึกษาเรียนรู้การจัดการน้ำ การพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ด้านนักวิจัยสามารถพัฒนาตนเองเป็นวิทยากรถ่ายทอดแนวคิดกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้กับนักวิจัยชาวบ้านรุ่นใหม่ รวมทั้งขยายผลสู่สังคมภายนอก
3) โครงการทางเลือกที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพกระเทียมบ้านแม่สุรินโดยไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร บ้านแม่สุริน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน หรือการทำ"กระเทียมปลอดสารบ้านแม่สุริน"เป็นความพยายามในการร่วมกันค้นหาทางเลือกในการผลิตกระเทียมคุณภาพโดยไม่ใช่สารเคมี ของกลุ่มเกษตรกรบ้านแม่สุริน ที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่คุณภาพของกระเทียมกลับลดลงจากการใช้สารเคมี จึงเป็นการทบทวนสถานการณ์การใช้สารเคมี ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปลูกกระเทียม รวมไปถึงการวิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา และค้นทางออกร่วมกัน เพื่อหาทางลดต้นทุนการผลิตการลดหนี้สินของเกษตรกร และข้อมูลที่ได้ยังนำไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่น ๆ ได้ เช่น การปลูกข้าว ถั่วเหลือง เป็นต้น และมีการขยายเครือข่ายออกไปเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นต่อไป
4) โครงการแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาลายผ้านาหมื่นศรี หรือ "การฟื้นฟูลายผ้า นาหมื่นศรี" ของกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งต้องการฟื้นฟูรากเหง้าการทอผ้านาหมื่นศรีให้กลับคืนมาอยู่คู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยร่วมกันสืบค้นลายผ้าโบราณจากผู้เฒ่า ผู้แก่ จัดเวทีแลกเปลี่ยน ทำให้ค้นพบลายผ้าเก่า และเริ่มต้นฝึกลายเพื่อการสืบทอด 3 ลาย ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายชิงดวง และลายราชวัตรห้อง จนสามารถบอกแก่คนภายนอกได้อย่างชัดเจน ซึ่งการตามหาลายผ้าได้ถักทอสายใยแห่งความผูกพันธ์อันดีระหว่างคนทุกรุ่น คืนวิถีการทำงานร่วมสู่ชุมชนในกิจกรรมต่างๆ รวมกันอย่างพร้อมเพรียง ก่อเกิดกิจกรรมอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอหลากหลาย เช่น มีการกำหนดวันไหว้ครูผ้าทอประจำปี นำสู่หลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกผ้า และการหันมาแต่งกายด้วยผ้าทอนาหมื่นศรี กระบวนการวิจัยช่วยให้ทีมวิจัยมีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สามารถนำเสนอข้อมูลได้ชัดเจน และนำกระบวนการวิจัยไปปรับใช้การบริหารจัดการกลุ่มจนสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น ทำให้ได้รับการยอมรับจากบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัดตรัง กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ขององค์กร และผู้สนใจทั้งใน/ต่างประเทศ ตลอดจนได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ/สารคดีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
5) "ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่บ้านวังอ้อ" หรือโครงการรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านวังอ้อ ต.หัวดอน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เป็นการร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อค้นหารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชนวังอ้อ ด้วยความตระหนักถึงประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าเยี่ยมชมป่าชุมชนดงใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้น ผลจากกระบวนการวิจัยที่เข้มข้นทำให้ค้นพบศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวใน "ป่าดงใหญ่" และพลังของชุมชนในการจัดการตนเอง รวมทั้งค้นพบว่าการเดินป่าศึกษาธรรมชาติและการพักค้างแรมในป่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชน ยิ่งกว่านั้นงานวิจัยยังช่วยสร้างศักยภาพแก่ชุมชนในการบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง รู้จักสร้างสรรค์กิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างเสริมความสามัคคี ความเข้มแข็ง จากการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการค้นหา พิสูจน์ความจริงก่อนลงมือปฏิบัติ หล่อหลอมให้ชาวบ้านเป็นคนกล้าพูดกล้าเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนสามารถดึงเยาวชนร่วมเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นมัคคุเทศน์ท้องถิ่น และสามารถสร้างความร่วมมือกับ อบต. โรงเรียน และผู้นำท้องถิ่น ในการสนับสนุนโครงการให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนในพื้นที่จัดเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นอกจากนี้ บทเรียนของชุมชนยังขยายผลไปสู่บ้านหนองเหล่า ต.หนองเหล่า และบ้านทัน ต.แดงหม้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
6) โครงการกระบวนการพัฒนาผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มสตรีทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน หรือ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งคำ เป็นการทำงานต่อเนื่องของ"กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ" อันเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มสตรีบ้านโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน นับแต่ปี 2538 เพื่อผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ากับการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน และสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชนรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาทางสังคมทั้งทางตรง ทางอ้อม ได้เห็นร่วมกันในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิต การตลาดผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งภูมิปัญญาอันสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติในชุมชน จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทดลองพัฒนาการผลิตร่วมกันทำให้ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละคนได้รับการถ่ายทอด ค้นพบเฉดสีธรรมชาติใหม่ๆ กว่าร้อยสี สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดกว่า 21 ประเภท ส่งผลให้อาชีพและรายได้เพิ่มพูน และมีการขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มแม่บ้านใกล้เคียงอีก 8 หมู่บ้าน ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่หวนกลับมาใช้เวลายามว่างในการทอผ้า เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มเยาวชน/ผู้สนใจ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง กลุ่มเยาวชนที่เข้ามาร่วมเรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญา ได้พัฒนาศักยภาพ และเป็นกลไกหลักในการทำงานกับชุมชน นอกจากนี้ ยังสร้างเสริมความสามัคคีในชุมชน เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และเกิดกองทุนผ้าทอที่ชุมชนสามารถใช้เป็นสวัสดิการได้ยามฉุกเฉิน อีกทั้งน้ำไปสู่การดูแลรักษาป่าเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ถึงปัจจุบันนี้บ้านโป่งคำได้รับการยอมรับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของกลุ่มองค์กรภาครัฐ/เอกชน และผู้สนใจทั่วประเทศ
7) โครงการรูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เริ่มจากคำถามสำคัญของชุมชนบ้านสามขา ที่ว่า "ทำไมชุมชนถึงมีหนี้สิน แล้วชุมชนจะแก้ไขปัญหาหนี้สินเหล่านี้กันอย่างไร" จึงนำไปสู่การศึกษาวิจัยหลังจากที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้สินหลายครั้งหลายครา และในกระบวนการค้นหาตนเอง ค้นหาความจริงของสถานการณ์หนี้สิน และร่วมกันทดลองแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ นี้เองได้สร้างให้ชุมชนได้รู้จักตนเอง รู้จักหนี้ รวมไปถึงการจัดการกับหนี้สินอย่างเข้าใจ แม้ว่าหนี้สินยังคงมีอยู่ในชุมชน และยังสามารถพัฒนาคนให้รู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นต้นแบบแห่งการจัดการปัญหาหนี้สินโดยชุมชนเอง หลายหน่วยงาน/องค์กร/ชุมชนเข้าไปเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้การพัฒนาต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนมากมาย อย่างอาคาร Long Stay โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ โครงการอนุรักษ์สวนสมุนไพรและฝายแม้วจากกรมป่าไม้ หรือการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้บริหารจัดการกองทุนของธนาคารกรุงไทยด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ การรวมตัวของกลุ่มเยาวชนเป็น "ธนาคารสมอง" เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินในหมู่บ้านจากเงินทุนเริ่มต้นของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มีการทดลองปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อเพิ่มเงินทุน รวมทั้งการบันทึกข้อมูลบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน เสริมสร้างพลังคนรุ่นใหม่ในการทำประโยชน์สู่ชุมชน
8) โครงการรูปแบบการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นของชุมชนลำน้ำว้า ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน หรือการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นของชุมชนลำน้ำว้า" เป็นงานวิจัยจากความห่วงใยสัตว์น้ำในลำน้ำว้าที่ลดลงเรื่อยๆ และอาจส่งผลต่อวิถีชุมชนในอนาคต ทีมวิจัยในฐานะผู้ประสานโอกาส ได้เข้าไปสนับสนุนชุมชนในการศึกษาวิจัยโดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวบรวมข้อมูล จัดประชุมปรึกษาหารือ ทบทวนการจัดการที่ผ่านมา ค้นเหตุแห่งปัญหา และหาทางออกร่วมกัน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงระบบนิเวศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เกิดการเชื่อมโยงภูมิปัญญาดั้งเดิม/วัฒนธรรมความเชื่อสู่การอนุรักษ์ เช่น สืบชะตาน้ำ ทำตุงยันต์กันระเบิด รวมทั้งกำหนดกฎระเบียบการจัดการแหล่งน้ำร่วมกัน เช่น การแบ่งเขตน่านน้ำ กำหนดพื้นที่ใช้สอย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้อย่างสมดุล ส่งผลให้คุณภาพลำน้ำดีขึ้น พันธุ์ปลาเพิ่มมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของชุมชนในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนมีการขยายเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุ์ปลาสู่ทุกหมู่บ้านในตำบลน้ำพาง และขนานนามว่าเป็น "ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นตำบลน้ำพาง" รวมทั้งได้พัฒนาทักษะการจัดการกับปัญหาร่วมกัน และนำไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาอื่นในชุมชน เช่น สร้างข้อตกลงร่วมกันในการงดบริโภคของดิบเพื่อสุขภาพที่ดี นับเป็นการสั่งสมพลังชุมชนสู่ความเข้มแข็งต่อไป
9) "ชุดโครงการวิจัยองค์ความรู้หมอเมือง" หรือ การสังคายนาองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านล้านนา มาจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้หมอเมืองสู่ตำรากลางอ้างอิงของระบบการแพทย์พื้นบ้านล้านนา และให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด จึงได้พัฒนาขึ้นเป็นชุดโครงการวิจัยองค์ความรู้หมอเมืองนับแต่ปี 2544 ผลจากการระดมเกจิอาจารย์จากเครือข่ายหมอเมืองประมาณ 60 ท่าน กว่า 50 ครั้ง ในช่วงเวลา 3 ปี เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ ตรวจทาน ถกเถียง เปรียบเทียบ ตลอดจนปริวรรตใบลาน-ปั๊บสาที่เป็นอักขระล้านนามาเป็นภาษาไทยกลาง ประกอบกับการศึกษาเจาะลึกติดตามตรวจสอบการนำองค์ความรู้หมอเมืองไปใช้ 10 กรณี ทำให้สามารถพัฒนาคู่มือการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพทั้งหมด 35 เรื่อง และได้บูรณาการเป็นตำรากลางอ้างอิง 4 เล่มเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ตำราทฤษฎีการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตำราเภสัชกรรมการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ตำรากายภาพบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา และตำราพิธีกรรมบำบัด/จิตบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ปัจจุบันได้ถูกบรรจุเป็นทางเลือกหนึ่งในธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นรองรับ รวมทั้งกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในการนำเอาระบบการแพทย์พื้นบ้านไทยเข้าไปเป็นทางเลือกหนึ่งในสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกระดับ รวมทั้งสร้างกลไกขึ้นรองรับการใช้และการคุ้มครองภูมิปัญญาไทยด้วยการรับรองสิทธิ์การทำหน้าที่ของหมอพื้นบ้านได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้หลายมหาวิทยาลัยยังได้นำภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะสถาบันราชภัฏเชียงรายที่ได้จัดตั้งคณะวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน ทำการเปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านล้านนาและการแพทย์ชนเผ่า ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ปี 2546 ส่วนในระดับโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาก็ได้สู่การสอนในหลักสูตรท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเหล่าหมอพื้นบ้านในทุกภูมิภาค รวมไปถึงหมอชนเผ่าบนพื้นที่สูงด้วย ทำให้เกิดเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ทั้งเครือข่ายหมอเมือง เครือข่ายหมอพื้นบ้านในภูมิภาคอื่น และเครือข่ายหมอชนเผ่า ทำให้ชุมชนทั้งบนพื้นราบและบนที่สูง ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ การนำไปใช้และการสืบสานภูมิปัญญาของตนสู่คนรุ่นใหม่
ผอ.สกว. กล่าวอีกว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สกว. ได้สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยอย่างรอบด้าน จากการบริหารงานในฝ่ายต่าง ๆ คือ ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ ฝ่ายเกษตร ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ ฝ่ายชุมชนและสังคม ฝ่ายอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และ สกว.สำนักงานภาค รวมไม่ต่ำกว่า 2,000 เรื่องในปัจจุบัน และผลจากการดำเนินงานได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สกว.ได้นำผลงานวิจัยเผยแพร่สู่สาธาระในการนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปในอนาคต.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร. 0-2298-0455-72 ต่อ 159,160 ,แฟกซ์ 0-2298-0454--จบ--
-รก-